น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทย 17 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 331 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 439 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 199 ล้านบาท ได้แก่ บริการบริการให้กู้ยืมเงิน บริการบริหารจัดการด้านการดำเนินพิธีการศุลกากรและติดต่อประสานงานกับผู้ให้บริการด้านการขนส่งสินค้า บริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลและด้านความปลอดภัย บริการทดสอบความน่าเชื่อถือของชิ้นส่วนยานพาหนะที่ทำจากยาง บริการทางบัญชี โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์
2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้าจำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 120 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์ทุกประเภทและรถยนต์ใช้แล้ว บริการตรวจรับรองคุณภาพรถแทรกเตอร์ รถเกี่ยวข้าว บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบจำลองสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมเพื่อใช้ในการทดสอบคุณภาพสินค้าบริการซ่อมแซม บำรุงรักษาและปรับปรุงเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บริการเป็นผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการรับจ้างผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน โดยการสร้างภาพเคลื่อนไหวเสมือนจริงด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์ บริการรับจ้างผลิตขดลวดทำความร้อน โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน
3.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐจำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 3 ล้านบาท ได้แก่ บริการเป็นที่ปรึกษาตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของระบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แก่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศฝรั่งเศส
4.ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 3 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 9 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนโลหะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การค้าปลีกอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมการผลิต การค้าส่งสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรประเภทยากำจัดวัชพืช โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับกระบวนการทำงานการสร้างภาพยนต์เคลื่อนไหวเสมือนจริง การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบ ควบคุมและดูแลรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการทดสอบความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ (Liability Test) ประเภทชิ้นส่วนยานพาหนะที่ทำจากยาง วิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการออกแบบรูปแบบขดลวดทำความร้อน (Heater) และวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ออกแบบและตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งวิทยาการเฉพาะด้านเกี่ยวกับการซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบที่ใช้จำลองสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมสำหรับทดสอบคุณภาพสินค้าประเภทรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Environmental testing system)
ทั้งนี้ ในเดือน มิ.ย.60 มีธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือน พ.ค.60 จำนวน 14 ราย คิดเป็น 45% ขณะที่เงินลงทุนลดลง 1,314 ล้านบาท คิดเป็น 79% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจำนวน 5 ราย คิดเป็นอัตรา 23% ขณะที่มีเงินลงทุนลดลง 160 ล้านบาท คิดเป็น 32%
เนื่องจากในเดือน พ.ค.60 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น บริการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือ บริการให้กู้ยืมเงินโดยมีกรมธรรม์ประกันภัยเป็นประกัน บริการออกแบบทางวิศวกรรมจัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้างและติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น ประกอบกับในเดือน มิ.ย.60 ได้มีการถอด 19 ธุรกิจ ออกจากบัญชีสามท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เช่น ธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนของนิติบุคคลต่างประเทศในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ส่งผลให้ช่วงตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.60 มีคนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตจำนวน 136 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,743 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนมีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตจำนวน 179 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,711 ล้านบาท และในปี 2559 มีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยจำนวนทั้งสิ้น 352 ราย และมีเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,443 ล้านบาท