นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การเติบโตสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ยังคงประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 4% โดยมาจากสินเชื่อธุรกิจ ที่ยังมีการจากใช้สินเชื่อประเภทเทรดไฟแนนซ์ สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) และสินเชื่อระยะยาว ซึ่งทำให้สินเชื่อรายใหญ่ในปีนี้เติบโตได้มากกว่าที่คาดที่ 3.5% จากเดิมคาด 2%
ส่วนสินเชื่อรายย่อยยังมีแนวโน้มที่ชะลอตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลงตามยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่หดตัวต่อเนื่อง และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับธนาคารต่างๆยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบปีนี้เติบโตน้อยกว่าคาดไว้ 5.5% มาอยู่ที่ 4.5%
ด้านมาตรการดูแลบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามข่าวที่ปรากฏออกมานั้น มองว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้รวมของระบบธนาคารในปีนี้ที่ 0.3% ของรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากที่สุดในไตรมาส 4/60 และคาดว่าจะเห็นผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นในปี 61 โดยเฉพาะผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งประเมินมูลค่าที่ได้รับผลกระทบรวมกว่า 1 พันล้านบาท อีกทั้งภาพการเติบโตของบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ขณะที่สถานการณ์ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวล เพราะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมองว่า NPL จะเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3/60 ที่ระดับ 3.07% และในไตรมาส 4/60 จะเห็นการขายหนี้ของธนาคารต่างๆออกมามากขึ้นเพื่อรักษา NPL ให้อยู่ในระดับที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้
"เรามองว่าปลายปีนี้จะเห็นแบงก์ต่างๆขายหนี้ออกมากันมาก และเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน จากเดิมขายแต่หนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะไตรมาส 1 ที่ผ่านมาได้มี NPL ไหลเข้ามาเพิ่มเกินกว่าคาด ซึ่งเราได้เห็นการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไตรมาสเพิ่มขึ้นจากเดิม 5-6 หมื่นล้านบาทต่อไตรมาสมาเป็น 7 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/60"นางสาวธัญญลักษณ์ กล่าว