นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้มาลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 จำนวน 14.1 ล้านรายแล้ว โดยจะเป็นการตรวจสอบในส่วนของชื่อ-นามสกุล ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ โดยเบื้องต้นพบว่ามีกว่า 1 หมื่นคนที่มีชื่อ-นามสกุลไม่ตรงกัน, ลงทะเบียนซ้ำซ้อนกัน หรือบางรายเสียชีวิตไปแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการส่งข้อมูลไปให้กรมสรรพากร สถาบันการเงิน และกรมที่ดิน ทำการตรวจสอบคุณสมบัติในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนที่กำหนดไว้ในโครงการดังกล่าว คือ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ต้องมีเงินฝาก และทรัพย์สินไม่เกิน 1 แสนบาท และไม่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามที่โครงการกำหนด ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีกว่า 7 แสนราย ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้
"จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีประมาณ 7 แสนรายที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนด คือ มีทรัพย์สินสูงกว่าที่กำหนด ส่วนกระบวนการหลังจากนี้ สำนักงานสถิติได้จ้างนักศึกษา 7 หมื่นคนทั่วประเทศทยอยลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลผู้ลงทะเบียน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและได้ข้อมูลส่งกลับมาให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เกิน ส.ค.60 ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะนำมายืนยันกับข้อมูลที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการตรวจสอบอยู่แล้ว" นายกฤษฎา กล่าว
พร้อมระบุว่า ในส่วนของมาตรการที่จะมอบให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามโครงการนั้น คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้เร็ว ๆ นี้ โดยเบื้องต้นเป็นมาตรการที่เคยดำเนินการหรือประชาชนได้รับอยู่แล้ว เช่น การช่วยเหลือค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม การโดยสารรถเมล์-รถไฟฟรี เป็นต้น ซึ่งใช้งบประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี จะให้ผู้มีรายได้น้อยเหมือนเดิม โดยจะเริ่มให้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60
ส่วนมาตรการเสริมที่รัฐบาลจะให้เพิ่มเติมนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาและหารือร่วมกับฝ่ายนโยบาย ซึ่งต้องรอการสำรวจคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนขั้นสุดท้ายก่อน เพื่อจะได้นำมาคำนวณงบประมาณที่ต้องใช้ดำเนินการ ขณะที่มาตรการเสริมที่ช่วยเหลือคนจนที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ และมีหนี้นอกระบบจำนวน 4 พันคนนั้น ในส่วนนี้จะดำเนินการช่วยเหลือทันที เพราะถือว่าเป็นผู้มีความยากลำบากและเดือดร้อนจริง
"มาตรการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือกับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ยังต้องพิจารณาจำนวนราย และงบประมาณที่ต้องใช้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติให้ตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการในเรื่องนี้" นายกฤษฎา กล่าว