นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "หลุมดำ...พลังงานไทย"ว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการเปิดประมูลสัมปทานรอบ 21 เพราะหากล่าช้าจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่งมีต้นทุนราคาสูงกว่าก๊าซในอ่าวไทย ปัจจุบันไทยต้องนำเข้าพลังงาน 60% อาจเพิ่มเป็น 70-80% ในอนาคต ส่งผลให้เงินตราไหลออกนอกประเทศ
ขณะที่การเปิดประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ส่วนตัวมองว่าควรเร่งกลับมาผลิตให้เร็วที่สุด และต้องผลิตให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงหลังหมดอายุสัมปทาน ซึ่งต้องการเห็นการผลิตที่ต่อเนื่อง หากได้รายเดิมเป็นผู้ชนะการประมูลก็มีส่วนดี เนื่องจากสามารถกลับมาผลิตได้ทันที ต้นทุนต่ำ การผลิตไม่หยุดชะงัก ดังนั้นส่วนตัวมองว่าการเปิดสัมปทานแหล่งที่จะหมดอายุ ควรเป็นการเปิดสัมปทานทั่วไป แต่รายเก่าเป็นผู้ชนะประมูล ขณะที่ระบบที่จะนำมาใช้เป็นระบบพีเอสซี
นายคุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินงานคือ 1.การจัดหาปิโตรเลียม โดยเดินหน้าการเปิดสัมปทานรอบ 21 ซึ่งตามแผนเดิมล่าช้ามา 5 ปีแล้ว 2.การจัดหาไฟฟ้า ควรมีการกระจายเชื้อเพลิง 3.การอนุรักษ์พลังงาน และ 4.ความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยกระจายความเสี่ยงในการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่เพียง สปป.ลาวเท่านั้น ควรกระจายไปและเมียนมากัมพูชาด้วย
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ซึ่งต้องการใช้พลังงานที่ต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ต้นทุนราคามีความเหมาะสม ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากและมีการปรับปรุงเครื่องจักรที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเงินมาจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มองถึงความเสี่ยงด้านไฟฟ้าในอนาคต มาจาก 1.ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะเข้ามาเร็วกว่าแผน เนื่องจากความได้เปรียบด้านชิ้นส่วนยานยนต์ 2.รถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเพิ่มขึ้น จึงมีความน่าเป็นห่วงการใช้ไฟฟ้าใน 3-5 ปีข้างหน้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งดูว่าสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันมี 20-30% สามารถพึ่งพาได้จริงหรือไม่
นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองแผนงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการร่างกฎกระทรวงเพื่อรองรับการเปิดระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบจ้างผลิต (เอสซี) จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อบังคับใช้ต่อไป โดยใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมได้เพิ่มระบบพีเอสซีและเอสซีเข้ามา จากเดิมที่มีเพียงระบบสัมปทาน
สำหรับแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ได้แก่ แหล่งเอราวัณและบงกช กำลังการผลิตรวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็น 70% ของกำลังการผลิตก๊าซในประเทศ หากการเปิดประมูลชะลอออกไปอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตแหล่งดังกล่าว ซึ่งในปี 2561-2562 คาดว่าจะยังคงรักษาระดับการผลิตได้ แต่หลังปี 2563 ไปแล้ว คาดว่ากำลังการผลิตจะเริ่มลดลง หากมีความชัดเจนผู้ชนะสัมปทาน คาดว่าในปี 2565 กำลังการผลิตจะเริ่มกลับมา
โดยปริมาณก๊าซอ่าวไทยที่ลดลงจะถูกทดแทนด้วยการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามาเสริมในระบบ ซึ่งปัจจุบันมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแอลเอ็นจีเทอมินอล เพื่อรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจีที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต