นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกกฏเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการสร้างวินัยการใช้เงิน และควบคุมไม่ให้ประชาชนใช้จ่ายเกินความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมามีจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในระดับสูงมาอยู่ที่ 20 ล้านใบ แต่มีจำนวนประชาชนที่ถือบัตรเครดิตเพียง 5 ล้านคน หรือเท่ากับ 1 คน ถือบัตรเครดิตเฉลี่ย 3-4 ใบ ซึ่งมองว่าเกินความจำเป็นสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และหากคนไม่มีวินัยในการใช้จ่ายและใช้เงินผิดประเภท จะส่งผลเสียต่อแนวโน้มของหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
ส่วนผลกระทบต่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อรายได้ที่มาจากธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้รายได้อันดับ 1 หรือ 2 ของธนาคารพาณิชย์ โดยคิดเป็นรายได้สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท/ปี แต่เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีวิธีหารายได้อย่างอื่นมาชดเชยกับรายได้ส่วนนี้ที่สูญเสียไปได้
"แบงก์ที่มีฐานลูกค้ารายย่อยเยอะๆ และมีสัดส่วนลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเยอะ จะกระทบมากหน่อย แต่ด้วยความที่เป็นแบงก์ก็เชื่อว่าจะหารายได้อย่างอื่นมาชดเชยได้ แต่ที่น่าห่วงจะเป็นนอนแบงก์ หรือผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ทำธุรกิจแบบนี้อย่างเดียว แต่ก็เชื่อว่าทุกคนน่าจะปรับตัว และรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป"นายชาติชาย กล่าว
ทั้งนี้ กฏเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาใหม่ เช่น การให้บริการพร้อมเพย์ และการลดค่าธรรมเนียมของเครื่อง EDC ส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในระบบทั้งหมด ดังนั้นจึงมองว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการปรับตัวโดยต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีฟินเทค เพื่อการลดต้นทุนและช่วยชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป