ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 ในเดือนมิ.ย. 2560 จากความกังวลที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สินและสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าเป็นสำคัญ
แม้ในเดือนมิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา มันสำปะหลัง รวมถึงสินค้าเกษตรกลุ่มไม้ผล จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่อย่างไรก็ดี การปรับตัวลดลงของราคาพืชผลเกษตรในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้กระทบความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องค่าครองชีพและอำนาจการซื้อมากกว่า
"ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเดือนมิ.ย. 2560 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากความกังวลที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สินเป็นสำคัญ สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อภาระหนี้สินปรับตัวดีขึ้นมากจากระดับ 40.7 ในเดือนพ.ค. มาอยู่ที่ระดับ 47.0 ในเดือนมิ.ย. 2560 ซึ่งนับเป็นระดับความเชื่อมั่น (ในด้านภาระหนี้สิน) ที่สูงกว่าปกติ (Unusually High)"
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนมีความกังวลในเรื่องหนี้สินลดลง ได้แก่ มาตราการจากทางภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาวะการครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะโครงการคลินิกแก้หนี้ครัวเรือนบางส่วนได้รับค่าตอบแทนพิเศษประจำครึ่งปีมาใช้ชำระหนี้เงินต้น เป็นผลเชิงเทคนิคจากการครบกำหนดการชำระคืนหนี้บัตรเครดิตงวดสุดท้ายหรือใกล้งวดสุดท้ายที่ครัวเรือนซื้อสินค้าในช่วงเดือนธ.ค. 2559 ที่มีมาตรการชอปช่วยชาติ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นบางปัจจัยอาจจะเป็น ‘ปัจจัยเฉพาะชั่วคราว’ ที่ส่งผลให้ ครัวเรือนมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้ลดลงในเดือนมิ.ย. 2560 เนื่องจากประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นแรงกดดันต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวของเศรษฐกิจไทยที่จะต้องทยอยแก้ไขต่อไป
นอกจากความกังวลที่ลดลงต่อประเด็นเรื่องหนี้สินแล้ว ครัวเรือนยังมีความกังวลน้อยลงต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า เนื่องจากราคาสินค้าหลายหมวดรายการที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มปรับตัวลดลงในเดือนมิ.ย. (เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ผู้ประกอบการและห้างสรรพสินค้ามีการจัดโปรโมชั่นลดราคากลางปี (Mid-Year Sale) สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มประจำเดือนมิ.ย. 2560 ที่ติดลบ 0.32% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ในขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในปัจจุบันที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยหรือสถานการณ์ใดๆ เข้ามาบั่นทอนความเชื่อมั่นของครัวเรือนในระยะข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือนในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำที่ครัวเรือนยังมีความกังวลอยู่ สอดคล้องกับอัตราการว่างงานในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามประเด็นการปรับตัวของผู้ประกอบการภายใต้พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในช่วง 6 เดือนที่เหลือของปี 2560