นายนพล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และอดีตรองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลโพล กฎหมายแรงงานต่างด้าว และแนวคิดวิเคราะห์สถานการณ์ เรื่อง ผลกระทบจากกฎหมายแรงงานต่างด้าวต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวและมุมมองของประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 1,150 คน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 – 8 ก.ค. 60 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ก่ำกึ่งกันหรือร้อยละ 50.4 ระบุ กฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจกิจการ ในขณะที่ร้อยละ 49.6 ระบุ ไม่มีผลกระทบ และประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.7 ระบุว่าไม่มีผลกระทบ โดยการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า ประชาชนทั่วไปกลับมองว่า กฎหมายที่เข้มงวดจะส่งผลดีต่อแรงงานไทยเพื่อคนไทยมีงานทำและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศโดยส่วนรวม โดยมองว่า การไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่ออกมาได้เป็นเพราะขาดการเตรียมการที่ดีในการเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น และการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของข้อกฎหมายต่างๆ
ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าว ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 66.4 กังวลว่า โทษปรับที่สูงมากจะเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการ แต่ ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.4 กลับไม่กังวล และเมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการออกตามขนาดธุรกิจ พบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและ ขนาดจิ๋ว กังวลมากที่สุด คือร้อยละ 71.1 ร้อยละ 62.1 และ ร้อยละ 60.2 ซึ่งมากกว่า กลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีอยู่ร้อยละ 55.6 ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.6 ไม่มีแผนที่จะใช้แรงงานไทยทำงานแทนแรงงานต่างด้าวในอนาคต
ในขณะที่ นาย วินัย ลู่วิโรจน์ อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลกระทบต่อสถานประกอบการต่างๆ มีข้อเท็จจริงมาจากปัญหาคนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานซึ่งเป็นความจำเป็นของนายจ้างที่รัฐยังไม่ได้พูดถึง และบทลงโทษของกฎหมายควรทำให้เห็นก่อนว่าเป็นบทลงโทษที่สมเหตุสมผล แต่การว่าจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นการกระทำความผิดต่อนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเท่านั้นไม่ใช่ความผิดในตัวมันเอง เช่น ฆ่าคน ลักทรัพย์ วางเพลิง และการค้ามนุษย์ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องทบทวนมูลเหตุจูงใจของนายจ้างและความรุนแรงของการกระทำผิด เพราะส่วนใหญ่ นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตเพราะต้องการลดต้นทุน ไม่ต้องมีสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ให้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของผู้ประกอบการและออกมาคัดค้านโทษปรับที่สูง
“ทางออกคือ รัฐต้องจัดระบบการทำงานของคนต่างด้าว เพราะการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นสิ่งจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การมีทางเลือกให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้แรงงาน และควรมีหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเข้ามาดูแลคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานในกิจการเป็นพิเศษ เพื่อทำให้เกิดการยอมรับความจำเป็นของกฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่" อดีตรองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
ในขณะที่ นาย ธนิช นุ่มน้อย อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และ อดีตรองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ คือ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่อง ผลดีผลเสียของการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวและความไม่พร้อมของผู้ประกอบการในการรองรับการเปลี่ยนแปลง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การออก พรก.ใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และป้องกันการทุจริตคอรับชั่นนั้น ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ ที่สำคัญคือฝ่ายผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ต้องเตรียมความพร้อมทั้งแง่ความรู้ความเข้าใจและการรองรับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย
“ถ้าปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาได้ครบถ้วนจะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติของประเทศ แต่เนื่องจากมีขั้นตอนและเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานจึงพร้อมบริการด้วยจิตอาสาร่วมกับ สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) โทร 02.308.0444 หรือ 02.308.0995 เปิดศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษากฎหมายแรงงานต่างด้าวฟรีไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อหนุนเสริมธุรกิจและนโยบายรัฐบาล น่าจะช่วยให้การดำเนินการเกี่ยวกับการใช้แรงงานต่างด้าว สำเร็จตามเจตนารมย์ของกฎหมายที่ออกมา" อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าว