พาณิชย์ช่วยหาตลาดรองรับผลผลิตยาง มีแผนจับคู่ธุรกิจ-เจรจาขายในตปท.,สั่งฑูตพาณิชย์เร่งติดต่อผู้นำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 10, 2017 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายาง ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่าง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ราคายาง และในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่ดูแลด้านการตลาด ได้ดำเนินมาตรการเพื่อหาตลาดรองรับให้กับยางพาราและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอยู่ และจะจัดคณะผู้แทนการค้ายางพาราออกไปเจรจาขายยางพาราและผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายในระยะแรก คือ จีน ลาตินอเมริกา บังคลาเทศและอิหร่าน คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้

“กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการหาตลาดให้กับยางพาราและผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลักดันการส่งออก และสามารถผลักดันให้ราคายางในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่า แนวทางที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะช่วยทำให้ราคายางภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้"นางอภิรดีกล่าว

นางอภิรดีกล่าวว่า ในช่วงที่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการจัดคณะผู้แทนการค้า กระทรวงฯ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ให้เร่งติดต่อและสอบถามผู้นำเข้าในประเทศที่ตนเองประจำอยู่ว่ามีความต้องการนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราจากไทยหรือไม่ หากมีก็ให้รีบประสานเข้ามา เพื่อที่จะได้ประสานให้ผู้ส่งออกทำการส่งออกต่อไป และหากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดคณะผู้แทนการค้าออกไปเจรจา ก็พร้อมที่จะดำเนินการในทันทีเช่นเดียวกัน

สำหรับสินค้าเป้าหมายที่จะเร่งผลักดันให้มีการส่งออกเร่งด่วน ได้แก่ ยางพาราธรรมชาติ อะไหล่ยานยนต์ ถุงมือยาง ถุงมือแพทย์ ล้อยาง รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ ที่กระทรวงฯ ได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต และถือเป็นสินค้าใหม่ที่มีโอกาสในการส่งออก เช่น เครื่องใช้ในบ้าน ที่นอน หมอน รองเท้า ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ให้เตรียมแผนในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับยางที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น งาน AAPEX ประเทศสหรัฐฯปลายเดือนตุลาคม และงาน Medica ประเทศเยอรมันที่จะจัดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่มีผู้ประกอบการถุงมือยางเข้าร่วม เป็นต้น

นางอภิรดีกล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาน้ำมันโลกตกต่ำ ส่งผลกระทบมายังความต้องการยางพาราที่ลดลงเพราะสามารถนำยางสังเคราะห์มาแทนที่ได้ ทำให้ราคายางตกต่ำ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งผลักดันการส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆรวมทั้งการส่งออกยางแปรรูป ซึ่งช่วยดึงราคายางให้สูงชึ้น จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยยังขยายตัวได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนของปี 2560 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกยางพาราธรรมชาติ ทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และยางอื่นๆ มีปริมาณ 1.48 ล้านตัน ลดลง 0.82% มีมูลค่า 2,834.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 63.55% ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง และผลิตภัณฑ์ยางพาราอื่นๆ มีมูลค่า 4,066.12 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 58.98% ซึ่งคาดว่าแนวโน้มน่าจะยังคงขยายตัวได้ดีขึ้น เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผลการดำเนินการจัดโครงการจับคู่ธุรกิจการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 2 ครั้ง ในปี 2558 มีผู้ประกอบการไทย 88 รายผู้ซื้อกว่า 250 รายปี 2559 มีผู้ประกอบการไทย กว่า 110 รายผู้ซื้อ กว่า 400 ราย ที่ผ่านมา เข้าร่วมเจรจาซื้อ-ขาย สินค้า เช่น ยางพารา น้ำยาง ยางอัดแท่ง และผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือตรวจโรค ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางนอกยางในรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ ยางกันซึม ที่นอนยาง หมอนยาง และอะหลั่ยเครื่อง ออกกำลังกายเป็นต้น สามาถเจรจามียอดการขายยางพาราธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางรวม 785,450 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออกรวมกันได้สูงถึงกว่า 53,398.20 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรมยางพาราไทยสู่ตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังทำให้การส่งออกยางพาราธรรมชาติ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณสูงถึง 3.65 ล้านตัน และ 3.49 ล้านตัน ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ

กระทรวงพาณิชย์ยังคงผลักดันการแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด โดยมอบฑูตพาณิชย์ประสานนำนักธุรกิจ เดินทางมาร่วมพัฒนาสินค้าร่วมกับนักธุรกิจไทยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางไทยต่อไป นางอภิรดีกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ