นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากสหรัฐฯ ประกาศให้สิทธิพิเศษฯ GSP แก่สินค้าสินค้ากระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทาง (พิกัด 4202) จำนวน 23 รายการ และสินค้าสินค้าเซลลูโลสไนเทรต (พิกัด 3912.20.00) จำนวน 1 รายการ ซึ่งเป็นผลจากการที่กระทรวงพาณิชย์พยายามผลักดันจากการประชุม TIFA และหารือกับผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ดังของสหรัฐฯ ทำให้การลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการส่งออกสินค้ากลุ่ม Travel Goods สามารถแข่งขันได้ ผลต่อเนื่องจากการดำเนินการโน้มน้าวสหรัฐฯ ของกระทรวงพาณิชย์ก็ยังมีผลให้ไทยสามารถรักษาสิทธิพิเศษฯ GSP กรณีสินค้าไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯ เกินร้อยละ 50 แต่มูลค่าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากทั่วโลกในแต่ละรายการต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งในปี 2559 กำหนดไว้ที่ 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (De Minimis Value) อีกจำนวน 7 รายการ ยังคงได้รับสิทธิพิศษฯ GSP ต่อไป ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด, ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง, มะขามตากแห้ง, ข้าวโพดปรุงแต่ง, ผลไม้ ถั่ว แช่อิ่ม และ มะละกอแปรรูป
รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการที่ไทยยังคงสามารถรักษาสิทธิพิเศษฯ GSP จากการร้องขอกรณี De Minimis Waiver ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งทั้งหมดเป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่เป็นสินค้าอ่อนไหวสูงของไทย สินค้าดังกล่าวมีอัตราอากรขาเข้าสหรัฐฯ อยู่ระหว่างร้อยละ 1.8-8 ในการประกาศคงสิทธิพิเศษฯ GSP จะทำให้ไทยยังคงได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ต่อไป โดยในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ รวมกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ การที่ไทยได้รับการผ่อนผันการระงับ สิทธิพิเศษฯ ครั้งนี้ขอเชิญชวนให้ผู้ส่งออกไทยในกลุ่มสินค้าดังกล่าวเร่งใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษฯ GSP ที่ไทยยังคงได้รับให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจ โดยรวมของประเทศด้วย
ทั้งนี้ ในการทบทวนโครงการ GSP สหรัฐฯ ประจำปี 2559 หลังจากสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มรายการสินค้าในบัญชีรายการที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ GSP ได้แก่ กระเป๋าถือและกระเป๋าเดินทาง (Travel Goods) และสินค้าเซลลูโลสไนเทรต (Cellulose nitrates) ไปแล้ว ยังมีประกาศคงสิทธิพิเศษฯ สินค้ามีมูลค่านำเข้าสหรัฐฯ ต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำ (De Minimis Value) ที่สหรัฐฯ กำหนดอีกจำนวน 7 รายการ ดังนั้นการทบทวนโครงการ GSP ไทยได้รับเพิ่มเติมและได้รับคงสิทธิพิเศษฯ GSP รวมทั้งสิ้น 31 รายการ ส่งผลให้สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป