สศค.-ธปท.แนะใช้โอกาสบาทแข็งค่าขยายตลาด-ลงทุนตปท.มองค่าเงินยังผันผวนเตือน SME ทำประกันความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 11, 2017 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานสัมมนา "เงินบาทแข็งค่า...ธุรกิจจะต้านทานได้แค่ไหน"ว่า ค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้แม้จะแข็งค่า แต่ไม่ได้มากเมื่อเทียบกับปี 56 ที่อยู่ในระดับ 28.66 บาท/ดอลลาร์ โดยมองค่าเงินบาทที่แข็งค่าและอ่อนค่ามีประโยชน์ทั้งสองด้าน ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่า ผู้ประกอบการก็ควรหาโอกาสไปซื้อแหล่งวัตถุดิบในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้ต้นทุนถูกลง, การซื้อเทคโนโลยี และกิจการในต่างประเทศ รวมถึงการขยายการลงทุนในต่างประเทศ

ขณะที่มองการบริหารความเสี่ยงที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการควรจะมีการปรับปรุงสินค้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ราว 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3.2% เป็นไปตามการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวสูงขึ้น, การลงทุนภาครัฐ, การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น และการส่งออกเริ่มฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน จากการเติบโตของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ, ยุโรป, จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งนักวิเคราะห์หลายฝ่ายก็ได้ประมาณการส่งออกของไทยปีนี้จะเติบโตราว 4.1%

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการส่งออกของไทย มองว่ายังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากนโยบายกีดกันทางการค้าโลกมีความรุนแรงมากขึ้น, มาตรฐานสิ่งแวดล้อม, ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ผู้ส่งออกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าเพื่อให้ตอบโจทย์กับยุคสมัยมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจจะกระทบต่อผู้ส่งออกไทย

สำหรับปัจจัยค่าเงินบาทที่ผันผวนส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศทั้งการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก, นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่า จากการนำเข้าน้ำมันที่ลดลงมาก และการนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้น่าจะเป็นบวกต่อเนื่อง และค่าเงินบาทในระยะถัดไปยังมีแนวโน้มผันผวนจากปัจจัยภายในประเทศและนอกประเทศ

"ผู้ส่งออกรายเล็ก ถ้ามุ่งเน้นการขายของเพื่อการส่งออกให้ทำป้องกันความเสี่ยงด้านค่าเงิน จะได้ไม่เป็นกังวล และจะได้เอาเวลาไปมุ่งเน้นด้านอื่นๆ อย่าง การผลิต และการตลาด เป็นต้น และพลิกโอกาสในช่วงที่บาทแข็ง ขยายการลงทุนในต่างประเทศ ขยายตลาด รวมถึงขยายฐานการค้าและการผลิต"

นอกจากนี้ แนะนำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การใช้เครื่องมือทางการเงิน หรือการทำ Forward, การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการรับและชำระเงิน, การ Netting หรือการนำรายรับหรือรายจ่ายที่เป็นสกุลต่างประเทศ (FX) เดียวกับคู่ค้าเดียวกัน หรือคู่ค้าหลายรายที่อยู่ในเครือเดียวกันมาหักกลบลบหนี้และรับหรือจ่ายเงินตราต่างประเทศสุทธิ และการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit :FCD)

นายศักดิ์ชัย วิจัยธรรมฤทธิ์ กรรมการ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME ของไทยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 2.7 ล้านราย แบ่งเป็นเป็นผู้ส่งออกโดยตรงจำนวน 3 หมื่นราย แต่มีการทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพียงแค่ 3 พันราย ซึ่งสิ่งที่ SME ไทยต้องการมากที่สุด คือ เรื่องของข้อมูล หรือความรู้ในการดำเนินธุรกิจส่งออก จึงแนะนำให้รัฐบาลและภาคธนาคารให้ความรู้และส่งเสริมการลงทุนให้ตรงจุด

นายบุญกิต จิตรงามปลั่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบนสัน จิวเวลรี่ จำกัด ในฐานะประธานกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทุกคนมีความเกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในอันดับแรกต้องดูตัวเองก่อนว่า เป็นบุคคลประเภทใด หากเป็นผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ควรที่จะป้องกันความเสี่ยงตามความเหมาะสมของธุรกิจ และหากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีเงินเก็บในธนาคารหลัก 10 ล้านบาทขึ้นไปควร Diversifly เงินเก็บของตัวเองไปลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนในรูปของเงินดอลลาร์เข้ามา แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ