นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมการขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีว่า ภายในเดือนก.ย.นี้ภาครัฐโดยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง สมาคมธนาคารไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะร่วมกันจัดทำมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
ทั้งนี้ จะให้ บสย.เข้ามามีบทบาทเชิงรุกในการอำนวยความสะดวกด้านสินเชื่อของธนาคารต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อจะให้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อที่เหลือของ บสย. 80,000 ล้านบาท ไปสู่เอสเอ็มอีภายในสิ้นปีนี้ จากวงเงินที่ได้รับภารกิจมา 100,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ดำเนินการไปได้เพียงกว่า 17,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารออมสิน เป็นแกนหลักสนับสนุนให้เอสเอ็มอีมีขีดความสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทค่อนข้างแข็งค่า พร้อมช่วยเหลือเรื่องการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การที่ลูกค้าต่างประเทศไม่ชำระค่าสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMBank) จะต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น เช่น ด้านการส่งออกของเอสเอ็มอีจะเน้นส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งหมายถึงประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป
และสุดท้าย คือ การให้ความรู้เอสเอ็มอี เนื่องจากการทำธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งด้านเทคโนโลยี การค้าขายผ่านระบบออนไลน์ การค้าขายผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส.อ.ท.ดำเนินการช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อไป
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่มี 11 แห่งทั่วประเทศทำหน้าที่นี้ โดยขณะนี้นำร่องจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและภาคเอกชนร่วมมือกันช่วยเหลือ และจะดำเนินการต่อไปในอีก 10 ศูนย์ภาคที่เหลือด้วย พร้อมกันนี้ยังสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดเครื่องมืออำนวยความสะดวก หรือ FACILITY กลางให้กับเอสเอ็มอี ได้ใช้อีกด้วย โดยเฉพาะ 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจจริงในเขตเศรษฐกิจพิเศษพบว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ก.ย.นี้ ทางกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) จะนำคณะนักธุรกิจเอสเอ็มอีญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทย เพื่อพบปะผู้ประกอบการไทยและจัดสัมมนาขึ้นในประเทศไทย โดยทางเอสเอ็มอีญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นในไทยแสดงความจำนงเข้าร่วมงานแล้วมากกว่า 500 ราย
การเดินทางมาครั้งนี้เน้น 3 เรื่อง คือ การแสวงหาความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้ปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงเอสเอ็มอีญี่ปุ่นต้องการแสวงหาแนวทางความร่วมมือเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนใช้โอกาสนี้หาแนวทางที่เอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่นจะร่วมก้าวไปด้วยกัน