พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้า การใช้ยางพาราในการดำเนินโครงการของส่วนราชการ ปี 2560 ว่า ได้มีการสรุปการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ ปีงบประมาณ 2560 (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ค. 60) ซึ่งมีจำนวน 9 หน่วยงานยื่นความจำนงใช้ยางพารา ได้แก่ 1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. กระทรวงกลาโหม 3. กระทรวงคมนาคม 4. กระทรวงศึกษาธิการ 5. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6. กระทรวงสาธารณสุข 7. กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 8. กระทรวงมหาดไทย และ 9. กรุงเทพมหานคร
รวมปริมาณน้ำยางข้น 22,321.54 ตัน และยางแห้ง 2,952.66 ตัน (จากเดิม น้ำยางข้น 20,964.8009 ตัน ยางแห้ง 3,512.0781 ตัน ณ วันที่ 29 มิ.ย. 60) รวมเงินงบประมาณทั้งสิ้น 16,925,626,588.57 บาท
สำหรับปี 2561 มี 5 หน่วยงานที่ยื่นความจำนงใช้ยางพารา ได้แก่ 1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2. กระทรวงกลาโหม 3. กระทรวงคมนาคม 4. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 5. กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งตั้งงบประมาณโดยใช้งบปกติของแต่ละหน่วยงาน และแจ้งข้อมูลภายในวันศุกร์หน้าต่อไป
“นอกจากนี้ ในระยะยาวได้สั่งการให้นำเอาเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ไปศึกษาในทุกหน่วยงานที่จะเกี่ยวข้องกับการทำถนน เพราะถนนดินซีเมนต์นี้จะนำไปใช้ในเรื่องของการทำซับเบส คือส่วนของด้านล่างของตัวชั้น ไม่ใช่ชั้นผิวถนน ซึ่งทุกผิวถนนสามารถใช้ซับเบสนี้ได้ เพราะสามารถเพิ่มปริมาณได้ถึง 12 ตัน นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการทดสอบแล้ว 6 เดือน ผลการทดสอบใช้ได้ถึง 18 ตัน ต่อ 1 กิโลเมตร" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวเพิ่มเติม สำหรับรายการพิจารณาชนิดของผลิตภัณฑ์ยางที่นำมาใช้ในการดำเนินโครงการของส่วนราชการ มีทั้งสิ้น 23 รายการ อาทิ ถุงฝายยาง แผ่นยางรองคอสะพาน ยางกันชนท่าเรือ ท่อยางดูดน้ำและส่งน้ำ แผ่นยางซึม ยางขวางถนนจำกัดความเร็ว ยางปูพื้น ยางปูพื้นลู่วิ่งลานกรีฑา เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มี มอก. แล้วทั้งสิ้น 22 รายการ และมี มอก. พร้อมราคากลางสำนักงบประมาณ จำนวน 1 รายการ รวมทั้งยังไม่มี มอก. 1 รายการ