นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "Resilient strategies for a shifting world order" ในงานสัมมนา NIKKEI ASIA300 GLOBAL BUSINESS FORUM ว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นวิกฤติการเงินครั้งใหญ่แห่งเอเซีย ส่งผลกระทบไปหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งจากวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นไม่เพียงสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและการเงินแต่ยังสร้างความขัดแย้งและความเสียหายทางสังคมที่ตามมา
อย่างไรก็ตาม จากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้นกลับสร้างโอกาสและเป็นบทเรียนให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้ปรับตัวและทำให้สถานะของประเทศกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง
"นิตยสาร นิคเคอิ เอเชียน รีวิว เมื่อเร็วๆนี้ ได้รายงานถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสถานะเงินสำรองเงินตราที่มั่นคง ไม่ว่าไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และเกาหลีใต้ ต่างก็มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าประทับใจ จนเป็นจุดที่หอมหวลในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ ทาง Bloomberg คาดคะเนว่าในปีนี้ อย่างน้อย 4.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ จะถูกนำไปลงทุนในตลาดทุนและตลาด bond ของกลุ่มประเทศเหล่านี้ ไม่เพียงเท่านั้น วันนี้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่เมื่อยี่สิบปีที่แล้วที่แม้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์แต่ยังต้องดิ้นรนพัฒนาให้พ้นจากความยากจน วันนี้ประเทศเหล่านั้นในเอเซีย ล้วนผงาดเติบโตอย่างน่าประทับใจไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือประเทศในกลุ่มอาเซียน" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียในวันนี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นที่สุด กลายเป็นความหวังและพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของโลก ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอและเปราะบาง ประกอบกับนโยบายของผู้นำใหม่สหรัฐ กำลังก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า upside down geopolitic ภูมิภาคเอเชียกลับกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก Asia Rise ซึ่งถือเป็นโอกาสของภูมิภาคเอเชีย
นายสมคิด ได้ฝาก 4 แนวคิดที่เป็นตัวกำหนดว่า ประเทศใดจะสามารถสร้างประโยชน์จากโอกาสที่มาถึงในครั้งนี้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งประกอบด้วย ประการแรก คือ ความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ เพราะประเทศใดที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงมีโอกาสในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค และจะส่งผลให้มีโอกาสที่จะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงสุดจากการนั้น ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาในระดับสูงและทิ้งห่างประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
สำหรับประเทศไทย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้พยายามยกระดับความสามารถของประเทศในทุกๆ มิติ ซึ่งแม้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยในวันนี้จะมีการเจริญเติบโตที่น่าพอใจ แต่ก็ไม่อาจนำพาให้ก้าวพ้น Middle Income Trap ไปได้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของประเทศ จากที่เคยอาศัยปัจจัยด้านต้นทุนในการแข่งขันไปสู่การเน้นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนภาคเกษตรที่ผลผลิตมีมูลค่าต่ำสู่การแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มและสร้าง Bioeconomy ที่มีมูลค่าสูง เพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ พร้อมทั้งเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสู่การสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่เน้นเพิ่มมูลค่า เน้นวิทยาการและนวัตกรรม จากฐานการผลิตที่เป็นเพียงโรงงานประกอบสู่การเน้นการพัฒนา cluster และการเป็น HUB ของภูมิภาคในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เรามีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อาหารแห่งอนาคต petrochemical ระดับสูง Medical และ Wellness ที่เรามีชื่อเสียง หรือ Tourism Hub แห่งภูมิภาค เป็นต้น
พร้อมกันนี้เพื่อเป็นฐานรองรับการสร้างอุตสาหกรรมในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ถือเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการผลิต การขนส่ง และ logistic ที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาค CLMVT นโยบายเศรษฐกิจ 4.0 รวมถึงการลงทุนทางด้าน internet เพื่อเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจไทยสู่ยุคดิจิตัลพร้อมๆ ไปกับการเตรียมการด้านทรัพยากรมนุษย์ และการให้ความสำคัญกับการลงทุนในการค้นคว้าวิจัยได้กลายเป็นนโยบายสำคัญสูงสุดที่รัฐพยายามผลักดัน
รวมไปถึงการปฏิรูปการอำนวยความสะดวก การตัดลดขั้นตอน แก้ไขกฏระเบียบที่ล้าสมัย การสร้างความโปร่งใสและการขจัดการทุจริต ซึ่งจากความพยายามอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยได้รับการจัดลำดับความสามารถแข่งขันที่ดีขึ้นโดยลำดับ และเชื่อว่าประเทศไทยก้าวมาในทิศทางที่ถูกต้อง และเชื่อว่าจะสามารถยกระดับความสามารถของประเทศและผลักดันให้ไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของภูมิภาคในอนาคต
ปัจจัยที่ 2 คือ การวางตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ (Stategic Positioning) ในด้าน Geopolitic ของประเทศ ที่จะต้องสร้างความโดดเด่นและความน่าสนใจในเวทีโลก ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่จะตามมา โดยเชื่อว่า การรวมตัวในกลุ่มประเทศ CLMVT จะเป็นตลาดที่น่าสนใจ เป็น supply chain ที่สำคัญ และเมื่อเชื่อมเข้ากับอาเซียนอื่นๆ ก็จะเป็นข้อต่อสำคัญที่ขาดไม่ได้ ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจแห่งเอเชีย
"ไม่ว่าเราจะพูดถึง ASEAN+6 ไม่ว่าจะพูดถึงการเชื่อม One Belt บนแผ่นดินใหญ่เข้ากับ Maritime Silk Road ทางทะเล ไม่ว่าจะพูดถึง RCEP หรือแม้แต่ TPP ประเทศเล็กๆ ที่ดูจะไร้ความหมายกลับกลายเป็นข้อต่อที่มีความหมายและมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ นโยบายก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน หรือ stronger together และการผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมของกลุ่มประเทศ CLMVT จึงเป็นก้าวย่างทาง geopolitic ที่สำคัญของรัฐบาลนี้ เพื่อสร้างพลังผนึก เพื่อเชื่อมโยงจุดยืนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนโดยรวม การเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของ One Belt One Road และการร่วมกันผลักดัน RCEP และการเป็นส่วนหนึ่งของ TPP ล้วนเป็นการวางตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ที่จะสร้างความหมาย สร้างบทบาทความสำคัญและก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อทั้งอนุภูมิภาคโดยรวม"นายสมคิด กล่าว
ประการที่ 3 คือ ความเข้มแข็งและสามารถของภาคเอกชน หากเปรียบภาคเอกชนเหมือนนักรบก็ถือนักรบทางเศรษฐกิจ หากประเทศใดมีนักรบทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมีความสามารถที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ก็สามารถประสบความสำเร็จสูงทางเศรษฐกิจได้
นายสมคิด มองว่า เทคโนโลยี นวัตกรรม และ business model ถือเป็นอาวุธสำคัญที่นักรบเศรษฐกิจในโลกแห่งอนาคตจะต้องมี Internet IOT Big Data และ AI จะกลายเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงเร็วของผู้บริโภคยุคใหม่ business model ที่ปรับตัวได้เร็วเข้าถึงตรงผู้บริโภค
"Nikkei Asian Review ฉบับล่าสุดได้รายงานข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความเชื่องช้าในการมุ่งลงทุนสู่อนาคต ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในศักยภาพแห่งอนาคต และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของราคาหุ้นในที่สุด ในทางตรงข้ามบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขยับตัวเร็ว มุ่งลงทุนพัฒนาทางวิทยาการเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่กลับสามารถดำรงความเป็นผู้นำและขยายอาณาจักรธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องและมีผลประกอบการโดดเด่นอย่างน่าทึ่ง" นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวว่า รัฐบาลมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับภาคเอกชนไทย ในด้านหนึ่งต้องการผลักดันให้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยให้มีความเข้มแข็งในเชิงเทคโนโลยีและการค้นคว้าวิจัย และมีความสามารถเพียงพอที่ก้าวสู่การแข่งขันในระดับโลก โดยปัจจุบันไทยมีบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่และกลางที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ประมาณ 500 กว่าบริษัท ซึ่งรัฐบาลต้องการให้บริษัทเหล่านี้พัฒนายกระดับความเข้มแข็งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมสู่ยุคดิจิตัล
ขณะเดียวกันก็ต้องการเปลี่ยนแปลงภาค SMEs ของไทยที่ยังอ่อนแอและไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของวิทยาการและรูปแบบใหม่ การดำเนินธุรกิจในโลกข้างหน้า และที่สำคัญที่สุดเราต้องการสร้างธุรกิจ Startup พันธุ์ใหม่ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม creative และ Digital Economy ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการที่เข้าถึงเทคโนโลยี เข้าใจและสามารถพัฒนารูปแบบ Business Model ยุคใหม่ที่สามารถแข่งขันได้ในโลกแห่งอนาคต
"แน่นอนที่สุด ความฝันนี้จะเป็นความจริงได้ก็ด้วยการพัฒนาอย่างบูรณาการและด้วยความร่วมมือและสนับสนุนจากมิตรประเทศของเรา การเดินทางของผมไปญี่ปุ่นครั้งที่ผ่านมา ผมได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจาก ท่านเลขา ครม. ท่านสึกะ และท่าน รมว.กระทรวง METI เป็นอย่างดี ซึ่งท่านรมว.ได้ลงนามความร่วมมือกับรมว.อุตสาหกรรมของไทยในการร่วมพัฒนา EEC การชักชวนธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา SMEs ไทย ท่านจะเดินทางมาไทยด้วยตนเองพร้อมเคดันเรนและกลุ่มธุรกิจเอกชนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง เพื่อพบปะภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้" นายสมคิด กล่าว
ส่วนปัจจัยที่ 4 นายสมคิด มองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นเอกภาพและพลังผนึกในสังคม ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดใหม่ โดยบทวิเคราะห์เพื่อการลงทุน ได้ชี้ว่า นักลงทุนเริ่มหันหลังให้กับประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งในภายใน เพราะประเทศเหล่านี้จะชะงักงันในการพัฒนา เพราะต้องใช้เวลายุติความขัดแย้งในประเทศตนเอง ดังนั้นนักลงทุนจึงอยากไปลงทุนกับประเทศที่มีความปลอดภัยมากกว่าประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งภายใน
นายสมคิด กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามลดความขัดแย้งในสังคมและสร้างพลังร่วมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปของประเทศให้เห็นผล โดยได้ผลักดันแนวทางประชารัฐ เป็นการขับเคลื่อนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในทุกมิติ และมีความเชื่อมั่นว่าพลังแห่งประชารัฐนี้ จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งและสามารถก้าวไปสู่จุดหมายได้สำเร็จได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 500 บริษัทนั้น จะต้องสร้างพลังร่วมในการปฏิรูปประเทศ และต้องเร่งลงทุน รวมถึงไม่อยากให้เอกชนมีความภูมิใจกับเพียงการถือเงินสดในมือแต่ไม่กล้าที่จะนำมาลงทุน
"ในยุคสมัยที่นโยบาย America First กำลังเป็น Disruptive Factor อันสำคัญต่อดุลยภาพของการเมืองและเศรษฐกิจโลก และนำมาซึ่งความไม่แน่นอนและความหวั่นไหวไปทั่วทุกหนแห่ง และในขณะที่โลกในยุคที่เทคโนโลยี คือ Disruptive Factor สำคัญที่สามารถเปลี่ยน landscape แห่งการแข่งขันและเปลี่ยนเงื่อนไขแห่งความสำเร็จได้อย่างสิ้นเชิง ผู้รู้เท่าทันวิทยาการ ผู้รู้เท่าทันสถานการณ์ และเตรียมพร้อมเท่านั้น คือ ผู้ชนะ โอกาสกำลังขยับจากโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก ประเทศที่มีความเป็นเอกภาพ มีภาครัฐที่สามารถและภาคเอกชนที่เข้มแข็งและเตรียมพร้อมสร้างตนสู่อนาคต คือ ผู้ที่จะสำเร็จและสามารถก้าวสู่แถวหน้าของการพัฒนา ในทางตรงข้ามประเทศที่หลับไหล ติดยึดกับอดีตและอุดมด้วยภาคเอกชนที่ขาดเขลา ล้าหลัง ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ก็คงต้องขอแสดงความเสียใจล่วงหน้าว่า ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่กำลังมาถึง แต่กลับจะต้องเผชิญกับความเสื่อมและความถดถอยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โอกาสเป็นของผู้กล้าและเตรียมพร้อมแล้วเท่านั้น" นายสมคิด กล่าว