นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในการเสวนาหัวข้อ “พัฒนาศักยภาพด้านการบริหารให้ถึงขีดสุดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่งาน NIKKEI ASIA300 GLOBAL BUSINESS FORUM ว่า มี 5 เรื่องด้วยกัน แนวโน้มแรกคือ การที่สหรัฐฯมีแนวโน้มปกป้องการค้าและอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) เนื่องจากลักษณะอุตสาหรรมของไทยยูเนี่ยนมีห่วงโซ่เชื่อมโยงกันตั้งแต่การหาวัตถุดิบ การแปรรูป และการขายสินค้า ส่วนแนวโน้มที่สองคือการเปลี่ยนแปลงคุณค่าเงินตรา ปรากฎการณ์ Brexit ทำให้ค่าเงินปอนด์ปรับตัวลง ซึ่งค่าเงินที่อ่อนตัวลงนั้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท
แนวโน้มที่สาม คือการที่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว หลังจากที่ขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มที่สี่เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการผลิต ส่วนแนวโน้มที่ 5คือ ความขัดแย้งทางการเมืองโลก ถ้าดูจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก การที่จะหาประเทศที่จะดำเนินธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ซึ่งปัจจัยแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทำให้ตอนนี้เป้าหมายการเติบโตเป็นเรื่องรอง แต่เป้าหมายหลักคือการปกป้องผลกำไรไม่ให้หดตัวลง
ขณะที่นายนิโคโล กาลันเต้ Chief Operating Officer (COO) เซ็นทรัลกรุ๊ป มองการเปลี่ยนแปลง 4 ประเด็น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิวัติดิจิทัล ,การเปลี่ยนแปลงของจีนและอินเดีย ,การเติบโตของชุมชนเมือง และการเปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ตนจะขอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นเร็วและคาดเดายาก ในขณะที่เรื่องอื่นๆเกิดขึ้นแบบมีจังหวะและคาดเดาได้
สำหรับการปฏิวัติดิจิทัลในมุมของธุรกิจค้าปลีกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจไปสู่มือผู้บริโภค ตอนนี้ผู้บริโภคมีสินค้าให้เลือกมากมายมหาศาล เฉพาะอเมซอนมีของกว่า 300 ล้านชิ้น ซึ่งถ้าสร้างห้างต้องใช้พื้นที่ครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ขณะที่การซื้อของ 1 ชิ้น มีตัวเลือกเยอะมาก และซื้อที่ไหนก็ได้ การรักษาลูกค้าก็ยากขึ้นเพราะตัวเลือกมีมาก ทั้งนี้เห็นว่า ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นเรื่องสำคัญและเป็นแนวโน้มในอนาคต ถ้าดูธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ ล่าสุด อเมซอน อยู่อันดับห้าในปีนี้ ส่วนปีที่แล้วอยู่ที่อันดับ 10 ส่วนที่จีน Tmall กับ JD.com กินส่วนแบ่งตลาดใหญ่ในจีน รวมกว่า 80% อีก 20% เป็นส่วนเหลือที่เซ็นทรัลและห้างอื่น ๆ ต้องเข้าไปแย่งแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นงานจากผลวิจัยที่สำรวจกับซีอีโอทั่วโลก พบว่า ซีอีโอกว่าครึ่ง ยอมรับว่าทำงานยากและอึดอัด อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตนทำหลังเข้ามารับงานที่เซ็นทรัล คือ เราเปลี่ยนมุมมองให้เห็นเป็นโอกาส และให้ดูการขยายตัวของยอดขายรวมเป็นหลัก อย่าเพิ่งไปกังวลกับยอดในโซเชียลมีเดียหรืออีคอมเมิร์ช รวมถึงการสร้างเครือข่ายถึงแม้จะเป็นบริษัทใหญ่แต่การมาของดิจิทัลทำให้เราอยู่ลำพังไม่ได้อีกต่อไป
ด้าน นายโยชิฮิสะ ไคนูมะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มินีแบ (Minebea Co.Ltd.) ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของธุรกิจผลิตส่วนประกอบชิ้นส่วนเครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดโลกถึง 60% กล่าวว่า นโยบายบริหารจัดการหลักขององค์กรคือการทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน ซึ่งมีกลยุทธ์ 2 ประการ คือ การทำให้ธุรกิจมีผลกำไรสูงสุด และการเตรียมตัวรองรับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่จะทำให้บริษัทได้กำไรสูงสุด คือต้องสร้างความแตกต่าง ต้องถามตัวเราเองว่า จะทำอย่างไรให้แตกต่างจากคนอื่น เป้าหมายเราคือเราสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ผลิตภัณฑ์หลายรายการของเราจดสิทธิบัตรเป็นรายแรกของโลก อีกสูตรความสำเร็จของเราคือ เราต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ บริษัทที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้เท่านั้นถึงจะอยู่รอด
ส่วนการบริหารจัดการรับมือความเสี่ยง ความเสี่ยงมีทั้งจากภายนอก ภายใน และจากเทคโนโลยี โดยความเสี่ยงภายนอกคือนโยบายรัฐ และความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ วิธีการป้องกันของเราคือการทำให้ธุรกิจเราไม่มีใครมาทดแทนได้ รวมถึงออกแบบโครงสร้างการผลิตให้รองรับความเปลี่ยนแปลง โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์หลักซึ่งคือ สินค้าที่มียอดขายที่ดี และหาทดแทนได้ยาก กับผลิตภัณฑ์ย่อยซึ่งอาจอ่อนไหวแต่ต้องเป็นสินค้าที่ได้กำไรสูง ซึ่งถ้าอันใดอันหนึ่งมีปัญหาอีกอันก็สามารถค้ำจุนบริษัทได้