นางเอมอร ชีพสุมล รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เล็งเห็นความจำเป็นในการใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่มีประสิทธิภาพ สำหรับประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบผลิตไฟฟ้าและพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มเสถียรภาพการผลิตและใช้พลังงานของประเทศ จึงมีมติอนุมัติงบประมาณ 765 ล้านบาท เพื่อนำไปจัดทำโครงการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานในด้านต่าง ๆ
โดยนำร่องการใช้งานในด้านความมั่นคงและภัยพิบัติ ด้านอุตสาหกรรม และยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างฐานการพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ในระยะยาว ทั้งนี้ ได้ร่วมมือและมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นผู้บริหารจัดการโครงการ
การดำเนินงานระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 สวทช. เปิดรับข้อเสนอโครงการจัดกระบวนการพิจารณา และเสนอคณะทำงานกำกับงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Steering Committee) อนุมัติการสนับสนุนโครงการแล้ว รวม 32 โครงการ งบประมาณรวม 301.9 ล้านบาท เป็นงบประมาณจากกองทุนฯ 295.63 ล้านบาท และงบประมาณร่วมสนับสนุนจากภาคเอกชน 6.26 ล้านบาท ซึ่งยังมีงบประมาณคงเหลืออีก 400.32 ล้านบาท
"เพื่อให้ทิศทางและแนวทางในการดำเนินงานมีความสอดคล้องและต่อเนื่องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล สนพ. ในฐานะเลขานุการกองทุนฯ จึงร่วมมือกับ สวทช. จัดสัมมนาขึ้น เพื่อสำรวจองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นโยบาย มาตรการส่งเสริม และทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านระบบกักเก็บพลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนา การกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมด้านระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับเป็นกรณีศึกษาและแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับประยุกต์ใช้ในประเทศไทย"นางเอมอร กล่าว
สำหรับการสัมมนา"ความพร้อมของประเทศไทยกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน"จะเป็นเวทีให้นักวิจัย นักวิชาการ ผู้ประกอบการ องค์กรภาครัฐ และเอกชน ได้ทราบถึงทิศทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้านระบบกักเก็บพลังงานในระดับสากล รวมถึงกรณีศึกษาและแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
พลเอกสุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายหลักในการขับเคลื่อนนโยบาย Energy 4.0 มอบหมายให้สนพ. เป็นผู้ดำเนินกการ โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมไปที่กรอบแผนงาน 4 ด้าน คือ 1. Firm Renewable Energy หรือพลังงานทดแทน ซึ่งในด้านการผลิตไฟฟ้า มุ่งใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลม หรือชีวมวล แต่ยังมีข้อจำกัดการใช้งานอยู่บ้าง ดังนั้น ต้องทำให้พลังงานดังกล่าว มีความเสถียร สามารถใช้เป็นพลังงานหลักของประเทศได้
2. EV (Electric Vehicle) หรือยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาผลาญน้ำมัน รัฐบาลไทยประกาศสนับสนุนการผลิตและใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ทั้งจากบ้านเรือนที่พักอาศัย หรือที่ปั๊มชาร์จไฟฟ้า โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการผลักดันให้ภาคเอกชนสร้างปั๊มชาร์จไฟฟ้าให้ได้ 150 หัวจ่าย
3. Smart City - Smart Grid คือการพัฒนาชุมชนหรือเมืองอัจฉริยะ ให้ผลิตและใช้ไฟฟ้าได้เอง ทำให้สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. Energy Storage หรือระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่จัดสัมมนาในวันนี้ เป็นตัวจักรสำคัญ ที่จะทำให้เป้าหมายทั้ง 3 เรื่องข้างต้นสำเร็จ เนื่องจาก Energy Storage เป็นส่วนประกอบหลักที่จะทำให้เกิดการเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ให้ใช้ได้นาน ทำให้การบริหารจัดการพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร (Firm Renewable) ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ใช้งานได้นานขึ้น
ปัจจุบันเทคโนโลยี Energy Storage มีความหลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีเดิมที่มีการใช้มานาน หรือเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจ เช่น แบตเตอรี่ลิเทียม รวมถึงเทคโนโลยีอนาคต เช่น supercapacitor แต่การมุ่งสร้างความสามารถของประเทศไทยให้มีความพร้อมทั้งในการผลิต และการประยุกต์ใช้นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักๆ คือ ราคาต้นทุนเป็นสำคัญ
นอกจากนี้การลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย ต้องคำนึงถึงการมีวัตถุดิบในประเทศ หรือการมี Supply Chain ที่ครบถ้วน รวมถึงการมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ การสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้สำรวจองค์ความรู้และหารือแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี นโยบาย มาตรการส่งเสริม และทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรม Energy Storage เพื่อประเมินความพร้อมและกำหนดบริบทการพัฒนาเทคโนโลยี Energy Storage ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทำให้เรารู้ว่า ประเทศไทยควรจะเดินอย่างไร จะเตรียมความพร้อมเรื่อง Energy Storage อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Energy 4.0 เพื่อการพัฒนาให้ประเทศมีความยั่งยืน