โบรกฯ มอง กม.แรงงานต่างด้าวกระเทือนกลุ่มรับเหมาฯ ห่วงปัญหาขาดแคลนคนงานหนักกว่าทำต้นทุนสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 14, 2017 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเชีย พลัส เปิดเผยในงานเสวนา SET & IAA HOT ISSUE ในหัวข้อ "อนาคตแรงงานไทย ยุค 4.0 ผลกระทบ และการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม"ว่า ผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่จะมีต่อตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะมากนัก

ทั้งนี้ เพราะกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบหลักๆ คือ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างนั้น เมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนตลาดฯ พบว่ากลุ่มรับเหมาฯ มีน้ำหนักที่จะส่งผลต่อตลาดฯ ไม่มาก โดยในปี 59 โครงสร้างกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยมาจาก กลุ่มพลังงานราว 24% ,ธนาคารพาณิชย์ 23% ,ICT 9%,วัสดุก่อสร้าง 8%,อสังหาริมทรัพย์ 7% ,ค้าปลีก 5% ,อาหาร 5%, ปิโตรเคมี 5% และอื่นๆ 14%

"เราไม่ได้กังวลว่าผลกระทบจากปัญหาแรงงานจะส่งผลทำให้ต้นทุนสูงขึ้น จนต้องมีการปรับประมาณการกำไรของตลาด ซึ่งเรายังมองกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยน่าจะเติบโตได้ราว 9.9 แสนล้านบาท จากปีก่อน 8.8 แสนล้านบาท ซึ่งสิ่งที่เราจับตามองต่อไป คือเมื่อพ้น 180 วันไปแล้ว แรงงานที่เคยอยู่นอกระบบหรือยังไม่ถูกต้องหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์จะเข้ามาในระบบได้มากน้อยเพียงใด แต่ถ้าหากแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาไม่ถึง 50% ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนในบางอุตสาหกรรม ซึ่งจะน่ากลัวมากกว่าต้นทุนที่สูงขึ้น" นายเทิดศักดิ์ กล่าว

นายเทิดศักด์ กล่าวว่า สำหรับผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจเชื่อว่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบจากโครงสร้างต้นทุนแรงงาน ได้แก่ อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ,สถานีบริการน้ำมัน ,เดินเรือ ,ร้านอาหาร ,ผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย ,อาหาร ,เกษตร เป็นต้น

สำหรับกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มีต้นทุนแรงงานต่างด้าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของต้นทุนการก่อสร้างโดยรวม โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมาย (เมียนมา,กัมพูชา,ลาว) ในภาคการก่อสร้าง ณ เดือน พ.ค.60 จำนวน 226,573 คน จากทั้งหมดที่น่าจะมีอยู่ในระดับหลักล้านคน ส่วนกลุ่มผู้พัฒนาที่อยู่อาศัย มีโครงสร้างต้นทุนแรงงาน คิดเป็นราว 20-25%

ด้านกลุ่มทางด้านเกษตรและอาหาร มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายใหญ่คงมีไม่มากนัก เช่น บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ได้มีการปรับโครงสร้างแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายมาตั้งแต่ปี 59 ขณะที่ CP GROUP ธุรกิจการแปรรูปอาหารจะใช้แรงงานต่างด้าวประมาณ 20-30% คาดว่าน่าจะมีการปรับตัวไปบางแล้ว และส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนกลุ่มเกษตรและยางพารา ซึ่งมีการใช้แรงงานต่างด้าวราว 10% ก็น่าจะเกิดการสะดุดจากปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยาง และโรงงานน้ำตาล น่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย โดยเฉพาะในภาคอีสาน ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานที่มีฝีมือและเป็นคนไทย ซึ่งจะมีส่วนน้อยที่เป็นแรงงานต่างด้าว

ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวไม่ได้เป็นปัจจัยใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจไทย หรือตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลง แต่ยอมรับว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าจะกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังไม่มีการปรับประมาณกำไรบริษัทจดทะเบียน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าว มองว่าน่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ ซึ่งภาพรวมโครงการก่อสร้างต่างๆ ของภาครัฐอาจชะลอไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม แนะนำภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานในประเทศ โดยดึงแรงงานที่อยู่นอกภาคอุตสาหกรรมกลับเข้ามาและเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ เชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกในระยะสั้นนี้ได้

"ถ้าครบ 180 วัน ที่รัฐได้มีการชะลอการบังคับใช้กฎหมาย แล้วยังมีแรงงานกลับมาไม่ครบ แน่นอนคงจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว จากคนในระบบเศรษฐกิจน้อยลง แรงงานต่างด้าวน้อยลง ก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง และการคาดหวังว่า GDP จะเติบโตได้ราว 4% ก็คงเป็นไปได้ยากขึ้น แต่เชื่อว่าประสิทธิภาพของเอกชนไทยจะสามารถปรับตัวได้"นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี โดยในระยะแรก ปี 60-63 ตั้งเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะเติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปี และในปี 64-73 เติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพของแรงงาน ด้วยการเพิ่มทักษะ ความรู้ความสามารถให้กับแรงงานต่างด้าว เพื่อให้แรงงานดังกล่าวอยู่ในประเทศไทยได้นานขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์ในเรื่องของสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ขณะเดียวกันการยกระดับแรงงานจะเป็นผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ