นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวชี้แจงประเด็นจากกรณีที่มีการเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานทบทวนนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทน เพราะต้นทุนค่าไฟจากพลังงานทดแทนค่อนข้างแพง แต่กระทรวงฯ กลับเร่งส่งเสริมจนเกินความพอดี โดยส่งเสริมไปแล้ว 8 พันเมกะวัตต์ เมื่อใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มีต้นทุนสูง กลับไปผลักภาระมาที่ค่าเอฟทีทั้งหมด ทำให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นโดยตลอด ทั้งที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 นั้น ทั้งนี้ ต่อกรณีดังกล่าว พพ.ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลักคิดเป็นร้อยละ 64 ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศร้อยละ 10 ลิกไนต์ร้อยละ 9 ถ่านหินนำเข้าร้อยละ 9 สำหรับพลังงานทดแทนคิดเป็นร้อยละ 8 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย ซึ่งไม่ได้เป็นตัวหลักที่ทำให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นหรือลดลงได้มากนัก เนื่องจากค่าเอฟทีคำนวณมาจากค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (สนับสนุนพลังงานทดแทน) โดยในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2560 สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่นำมาคำนวณค่าเอฟทีมาจาก ค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ร้อยละ 19 ค่าซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ร้อยละ 71 และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (สนับสนุนพลังงานทดแทน) เพียงร้อยละ 10
ดังนั้น การส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP-2015 ของกระทรวงพลังงาน มีแนวทางที่เหมาะสมและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนมากอย่างที่เข้าใจ