นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกคืนคลื่นความถี่ ว่า กสทช.คาดว่าร่างประกาศหลักเกณฑ์จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้กระบวนการเรียกคืนคลื่นเริ่มต้นขึ้น โดยการเรียกคืนจะดำเนินการตามลำดับความเหมาะสม สำหรับคลื่นความถี่ที่อยู่ในความสนใจ คือ คลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ตช (บมจ.อสมท. (MCOT) , คลื่น 2300 เมกกะเฮิร์ตช (บมจ.ทีโอที (TOT)), คลื่น 700 เมกกะเฮิร์ตช (ปัจจุบันใช้บริการกระจายเสียและแพร่ภาพทีวีดิจิตอล ) และคลื่น 1500 เมกกะเฮิร์ตช (บมจ.ทีโอที (TOT))
สำหรับเกณฑ์ในการเรียกคืนคลื่นความถี่จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยดูจากคลื่นที่ไม่ได้ใช้งานหรือนำมาใช้แต่ไม่คุ้มค่าหลังจากประกาศหลักเกณฑ์ฯ แล้ว โดยร่างหลักเกณฑ์จะมีการประกาศตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดค่าเยียวยา ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) , ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานอัยการสูงสุด , สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม สำหรับการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่ กสทช.จะให้บริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัทมาทำการประเมินมูลค่าคลื่นโดยเอาราคาประเมินของทั้ง 3 บริษัทมาเฉลี่ยหามูลค่าคลื่นที่เหมาะสม
การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมาตรา 27 (12/1) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทั้งนี้คณะทำงานต้องดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน หลังจากนั้น กสทช.จะนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป