นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พ.ค.60 มีจำนวน 6,347,824.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.90% ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 4,912,277.61 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 971,707.95 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 446,277.21 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 17,561.61 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 79,903.50 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐบาล จำนวน 4,912,277.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 88,281.79 ล้านบาท โดยการเพิ่มขึ้นที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 65,000 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2560 ทั้งนี้รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหนี้รัฐบาล มีดังนี้
การกู้เงินล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 65,000 ล้านบาท จากการออก R-bill จำนวน 45,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยแปลงเป็นตราสารหนี้ระยะยาวต่อไป และพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่กู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 16 มิถุนายน 2560 วงเงิน 162,000 ล้านบาท
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินตามแผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2560 รวมถึงการกู้เงินเพื่อการบริหารหนี้สาธารณะ จำนวน 30,270 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ระยะสั้น เพิ่มขึ้น 34,000 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินระยะสั้นเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาล และเงินกู้ระยะยาว ลดลง 3,730 ล้านบาท เนื่องจากการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลไปเป็นเงินกู้ระยะสั้น 34,000 ล้านบาท การชำระคืนหนี้เดิม 13,830 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพื่อนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง และส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพจำนวน 44,100 ล้านบาท
การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ จำนวน 1,935.61 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,020.70 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 588.89 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟ สายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 351.95 ล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 47.85 ล้านบาท โครงการปรับปรุงทางที่ไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ จำนวน 32.01 ล้านบาท และ (2) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 914.91 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง จำนวน 428.71 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน 379.29 ล้านบาท และสายสีเขียว จำนวน 106.91 ล้านบาท
การกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 2,293 ล้านบาท เนื่องจากเงินกู้เพื่อใช้ในโครงการ DPL จำนวน 293 ล้านบาท และเงินกู้การพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน จำนวน 2,000 ล้านบาท
การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จำนวน 10,361.38 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
หนี้ต่างประเทศลดลงสุทธิ 338.77 ล้านบาท เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและการเบิกจ่ายหนี้เงินเยนเป็นสำคัญ
ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 971,707.95 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,042.66 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 1,592.10 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจาก การชำระคืนต้นเงินกู้ของการยางแห่งประเทศไทย 1,318 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้ 1,000 ล้านบาท
หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 549 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ออกพันธบัตรสุทธิ 3,210 ล้านบาท และ บมจ.การบินไทย (THAI) ได้ชำระคืนต้นเงินกู้ 1,843.87 ล้านบาท
ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 446,277.21 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 6,463.58 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนต้นเงินกู้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ขณะที่หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 17,561.61 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 872.05 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายได้มีการชำระคืนต้นเงินกู้สุทธิ 926.74 ล้านบาท และ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านได้มีการเบิกจ่ายสุทธิ 54.87 ล้านบาท
นายธีรัชย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นพฤษภาคม 2560 จำนวน 6,347,824.38 ล้านบาท แบ่งออกเป็น หนี้ในประเทศ 6,031,071.20 ล้านบาท หรือ 95.01% และหนี้ต่างประเทศ 316,753.18 ล้านบาท (ประมาณ 9,339.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือ 4.99% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะคงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,436,751.11 ล้านบาท หรือ 85.65% และหนี้ระยะสั้น 911,073.27 ล้านบาท หรือ 14.35% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด