สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1600 เมกะเฮิร์ตซ ได้ภายในเดือน ธ.ค.60 ส่วนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ และคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ตซ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในราวเดือน เม.ย.61
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า คลื่นความถี่ 2600 MHz ของ บมจ.อสมท. (MCOT) จำนวน 120 MHz อยู่ระหว่างกระบวนการเรียกคืนคลื่นความถี่ และเยียวยา ขณะที่คลื่นความถี่ 1800 MHz. และ 850 MHz ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่มีสัญญาสัมปทานกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม ที่จะหมดอายุ ก.ย.61 โดยไม่ต้องเรียกคืนคลื่นและเยียวยาแต่อย่างใด
สำหรับการกำหนดมูลค่าคลื่นความถี่นั้น กสทช.จะให้บริษัทที่ปรึกษา 3 บริษัทมาทำการประเมินมูลค่าคลื่น โดยจะนำราคาประเมินของทั้ง 3 บริษัทมาเฉลี่ยหามูลค่าคลื่นที่เหมาะสม
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คลื่นความถี่ที่จะเรียกคืนนอกเหนือคลื่นความถี่ 2600 MHz จะมีคลื่นความถี่ 1,500 MHz ที่ขณะนี้อยู่ในความครอบครองของ บมจ.ทีโอที, คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 45 MHz ของ กสทช.ที่ปัจจุบันนำไปใช้สำหรับทีวีดิจิตอล ซึ่งกำลังพิจารณาว่าใช้จริงเท่าไร และมีบางส่วนติดสัญญาสัมปทานในระบบอะนาล็อกที่จะหมดอายุปี 63 และปี 65
"การเรียกคืนคลื่นความถี่ กสทช.จะดูว่าใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำไปใช้ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด เท่าที่ดูคลื่น 700 MHz น่าจะเหลือ 15 MHz ที่ยังไม่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด" นายฐากร กล่าว
ส่วนคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz ของ บมจ.ทีโอที มีระยะเวลาใช้ได้ถึงปี 68 นั้น นายฐากร กล่าวว่า ต้องรอให้ทีโอทีทำข้อตกลงกับ DTAC ที่ได้รับเลือกเป็นพันธมิตรว่าจะใช้จำนวนคลื่นเท่าไร แล้วนำส่งคืนให้ กสทช.นำมาประมูล
"ทีโอทีต้องนำแผนธุรกิจที่ทำกับ DTAC มาให้พิจารณาและต้องการใช้คลื่นจำนวนเท่าไร ทางเราก็มีเอกสารทางวิชาการและอุปกรณ์ตรวจวัดว่าเขาใช้จริงทั้ง 60 MHz หรือไม่ ทางเราจะมอนิเตอร์ ถ้าเขาใช้งานไม่เต็มก็ต้องคืนกลับมา"นายฐากร กล่าว
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างวางหลักเกณฑ์ในการเรียกคืนคลื่นความถี่จะพิจารณาตามความเหมาะสม โดยดูจากคลื่นที่ไม่ได้ใช้งานหรือใช้ไม่คุ้มค่าหลังจากประกาศหลักเกณฑ์ฯ แล้ว คาดใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
นอกจากนี้ จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการกำหนดค่าเยียวยา ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) , ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานอัยการสูงสุด , สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวทางการเยียวยาที่เหมาะสม