นางณัฐฐา วินิจนัยภาค ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" ร่วมกับเครดิตบูโร เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "พฤติกรรมการออมและภาวะหนี้สินของประชาชนในช่วงครึ่งปีแรก 2560" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 45.15% มีรายได้พอๆ กับรายจ่าย โดยประชาชนมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 26,469.91 บาท ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,606.75 บาท
ทั้งนี้ ประชาชนเกินครึ่งเล็กน้อย หรือ 51.65% มีเงินออมไว้ใช้ โดยส่วนใหญ่ 48.79% ออมเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น เพื่อการรักษาพยาบาล การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ 38.33% ออมเพื่อสำรองไว้ใช้ในอนาคต 26.91% ออมไว้ให้บุตรหลานตลอดจนการศึกษาของบุตรหลาน 12.58% ออมเพื่อใช้ในระยะยาวช่วงหลังเกษียณอายุ
ส่วนการมีหนี้สินของประชาชนพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 68.10% ระบุว่ามีหนี้สิน ซึ่งในจำนวนนี้มีหนี้สินโดยรวมเฉลี่ยประมาณ 565,302.88 บาท 59.47% เกิดจากการซื้อ/ผ่อน/ชำระสินค้า การบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมา 35.46% เกิดจากการลงทุนในการประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ กิจการ การเกษตร การค้าขาย ส่วนอีก 14.24% เกิดจากการเลี้ยงดูบุตรหลาน อีก 11.89% เกิดจากการเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว และอีก 6.17% เกิดจากการสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย บ้าน คอนโด ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ
สำหรับวิธีการบริหารจัดการหนี้สินของประชาชนพบว่า ผู้ที่มีหนี้สินส่วนใหญ่ 61.01% จะชำระยอดค้างให้ตรงต่อเวลา ส่วนอีก 19.46% ไม่สร้างหนี้สินเพิ่มเติม นอกจากนี้ 14.17% ระบุว่าลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ 13.29% หาช่องทางการเพิ่มรายได้ เช่น ทำอาชีพเสริม หารายได้พิเศษ ทำงานล่วงเวลา และอีก 10.50% ระบุว่า เลือกแบ่งงวดจ่ายให้มากครั้ง แต่จำนวนเงินต่อครั้งให้น้อยๆ ขณะที่ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้สินเฉลี่ย 7.72 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10) ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาก
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีรายได้ทั่วประเทศ จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง
ด้านนางณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าวว่า ผลสำรวจข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีการออมที่น้อยมาก แต่กลับมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากกำลังซื้อปรับตัวลดลง ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือทำอย่างไรให้คนไทยมีการออมเงินมากขึ้น
ขณะที่การปิดความเสี่ยงของการเป็นหนี้ คือ ผู้กู้จะต้องรู้จักตัวเองก่อน และมีความเข้าใจในการสร้างวินัยทางการเงิน เพื่อลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ โดยแนะภาครัฐ ควรจะมีการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ในการกำหนดรายได้ให้เท่าเทียมกัน สำหรับการปล่อยกู้
ขณะที่นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด กล่าวว่า จากผลสำรวจการออม พบว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปรับตัวลดลง โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/60 อยู่ที่ 78.6% ของจีดีพี ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 80.6% ต่อจีดีพี
แต่เมื่อเจาะลึกลงไป พบว่า คนที่มีอายุระหว่าง 29-30 ปี จะเป็นหนี้เร็ว ,อายุ 55 ปี เป็นหนี้นาน และผู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 15,000 บาท/คน จะเป็นหนี้สูง จากปัจจัยดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ,มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น นโยบายรถคันแรก และการกระตุ้นการใช้จ่ายของสถาบันการเงิน เช่น การออกแคมเปญต่างๆ ผ่านบัตรเครดิต ที่ให้ดอกเบี้ย 0% เป็นต้น
ทั้งนี้ มีความกังวลว่า การก่อหนี้สามารถก่อได้ แต่หากเกิดกับผู้ที่มีอายุน้อยในวัยทำงาน อาจจะส่งผลกระทบต่อโอกาสที่จะทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพปรับตัวลดลง โดยแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการกำกับดูแลเรื่องของการขอกู้ของผู้กู้รายใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y ให้มีความเข้าใจถึงโครงสร้างรายได้ และความสามารถในการใช้คืนหนี้ และผู้ที่ปล่อยกู้ จะต้องมีการปล่อยกู้อย่างมีความรับผิดชอบ และปล่อยกู้ตามความเสี่ยง ขณะที่ผู้ที่เป็นหนี้ ให้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ หรือ เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้
"การเป็นหนี้เป็นได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนขอกู้" นายสุรพล กล่าว