นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เสนอ เรื่องแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากภายในเดือน ก.ค.60 นี้ มีกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ 20 แห่งที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง ดังนั้นเพื่อให้สามารถพิจารณาแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจด้วยความโปร่งใส รอบคอบ และมี Skill Matrix ตรงต่อความต้องการของรัฐวิสาหกิจ ทาง คนร.จึงได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวให้ครม.พิจารณาโดยเร่งด่วน
"ในเดือน ก.ค.นี้ จะมีรัฐวิสาหกิจ 20 แห่ง ที่กรรมการครบวาระการดำรงตำแหน่งและจำเป็นต้องแต่งตั้งใหม่ วันนี้จึงต้องมีการปรับปรุงแนวทางการแต่งตั้งกรรมการัฐวิสาหกิจให้โปร่งใส รอบคอบ เป็นไปตามการกำกับดูแลกิจการที่ดี...นอกจากนี้ ในหลักเกณฑ์ใหม่นี้ยังจะช่วยให้นักการเมืองไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบอร์ดของรัฐวิสาหกิจได้เหมือนเช่นในอดีต ทำให้ตอนนี้จะมีรัฐวิสาหกิจ 1 ใน 3 ที่จะเข้าสู่กฎเกณฑ์ใหม่ และในอนาคตเมื่อหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่นมีกรรมการที่ครบวาระ ก็จะเริ่มทยอยใช้กฎเกณฑ์ใหม่นี้ไปจนครบทั้ง 56 แห่ง" นายกอบศักดิ์ ระบุ
โดยหลักเกณฑ์การแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจที่จะเริ่มใช้ใหม่นี้ จะประกอบด้วย 9 ข้อ
1. ให้นำสมรรถนะหลักและความรู้ที่จำเป็น (Skill Matrix) มาใช้ในการพิจารณาสรรหา และแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้กรรมการตรงกับความต้องการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนและพัฒนารัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ กฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจได้กำหนดความเชี่ยวชาญไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนด Skill Matrix ต้องเป็นไปตามความเชี่ยวชาญดังกล่าวด้วย
2. ในการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจแห่งใด ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่นของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถจากภาคธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น
3. ห้ามมิให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งแห่งใด เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอื่น เว้นแต่กรณีที่มีกฎหมายกำหนด หรือกรณีการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัทที่รัฐวิสาหกิจนั้นถือหุ้นอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องของการปฏิบัติงานของผู้บริหารสูงสุดและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
4.ไม่แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
5.ให้มีผู้แทนกระทรวงการคลังที่เป็นข้าราชการประจำในกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการในคณะกรรมการัฐวิสาหกิจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ และเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.257 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
6.ให้มีผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจที่เป็นข้าราชการประจำในกระทรวงเจ้าสังกัด ซึ่งไม่อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น (Regulator) จำนวน 1 คน เป็นกรรมการในคณะรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบายจากกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นอาจแต่งตั้งเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 1 คน
7.ในกรณีที่กฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้ดำรงตำแหน่งใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นเป็นกรรมการ และผู้ดำรงตำแหน่งนั้นจะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นพิจารณามอบหมายผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานในสังกัดที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีเวลา และเหมาะสมกับความต้องการในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของแต่ละรัฐวิสาหกิจนั้น โดยทำเป็นคำสั่งมอบอำนาจเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่
8.กรณีกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้หน่วยงานนั้นแต่งตั้งจากบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานนั้น
9.ในกรณีที่สวนราชการแต่งตั้งข้าราชการประจำไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หากข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประจำ ให้ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งข้าราชการคนใหม่ไปแทน เนื่องจากข้าราชการผู้พ้นจากตำแหน่งแล้วไม่อยู่ในข่ายต้องได้รับโทษตามนัย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ.2534 และเพื่อให้การกำกับดูแลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามนโยบายของส่วนราชการนั้น เว้นแต่ข้าราชการผู้ที่เกษียณอายุหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประจำและส่วนราชการพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในกิจการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ส่วนราชการนั้นจะพิจารณาให้บุคคลดังกล่าวยังคงเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่อไปจนครบวาระที่ยังเหลืออยู่ก็ได้
ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงบทบัญญัติของกฎหมายรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ที่ให้อำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนประกอบด้วย เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2537 เรื่อง หลักเกณฑ์การแต่งตั้งและการพ้นจากตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ และบทกำกับข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ