นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการทางการแพทย์ ตั้งแต่ต้นปี 2560 (มกราคม-มิถุนายน 2560) มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้ว 19 โครงการ เงินลงทุน 3,615 ล้านบาท
โดยมีกิจการลงทุนที่น่าสนใจและเป็นกิจการของคนไทยที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้ว ได้แก่ บริษัท เมติคูลี่ จำกัด ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูก และผู้วิจัยด้านวิศวกรรมโลหการ (Metallurgical Engineering) จากสถาบันอุดมศึกษาของไทย เพื่อผลิตวัสดุฝังในร่างกาย ประเภทกระดูกเทียม และแผ่นโลหะดามกระดูก โดยนำเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D) มาใช้ออกแบบและขึ้นรูปวัสดุให้ตรงกับรูปร่าง หรือใกล้เคียงกับอวัยวะในส่วนเดิมของผู้ป่วยแต่ละราย (Customization) มากที่สุด ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหากรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านกระดูกจากอุบัติเหตุหรือมีปัญหากระดูกในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และที่ผ่านมาต้องใช้วัสดุนำเข้าจากยุโรปที่มีราคาสูง รวมถึงมีขนาดหรือสัดส่วนของอุปกรณ์ไม่เหมาะกับสรีระคนไทยอีกด้วย เบื้องต้นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จากโครงการนี้จะป้อนให้กับผู้ป่วยในประเทศทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อผลิตวัสดุที่สามารถเหนี่ยวยึดกระดูกได้ดี สำหรับผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกพรุน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยด้านกระดูกได้มากขึ้น
นางหิรัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มการลงทุนผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์จากประเทศญี่ปุ่นก็มีความน่าสนใจด้วยเช่นกัน โดยนอกจากหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce, Bangkok) ได้ตั้งคณะกรรมการด้านอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ขึ้นมาศึกษาการลงทุนในไทย และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แล้ว ยังมีนักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากสนใจขยายกิจการเดิมที่ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป โดยจะยกระดับการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ล่าสุดมีนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์รายใหญ่ แสดงความสนใจเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในกิจการผลิตกระดูกเทียม และแผ่นโลหะดามกระดูกในประเทศไทย ช่วงแรกอาจเป็นการจัดตั้งกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) และจะพิจารณาเข้ามาลงทุนในโอกาสต่อไป ซึ่งหากการลงทุนตามโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น จะทำให้ไทยเป็นประเทศแรกที่บริษัทเลือกเข้ามาลงทุนนอกประเทศญี่ปุ่น
"วงการแพทย์ทั่วโลก ยอมรับฝีมือของผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกของไทยอย่างมาก ประกอบกับศักยภาพของการขยายตลาด และความชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวในพื้นที่อีอีซี ซึ่งสามารถเป็นฐานการผลิตที่กระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้" นางหิรัญญา กล่าว