(เพิ่มเติม1) ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.อยู่ที่ 84.7 ลดลงจาก 85.5 ในพ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 19, 2017 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.5 ในเดือน พ.ค. ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้การดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้เกรงว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในเดือนมิ.ย.60 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมิ.ย. คือ เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ พร้อมเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงแก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สนับสนุนให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าของผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น และยังเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถปฏิบัติได้

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.6 ในเดือน พ.ค. สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีมุมมองต่อการดำเนินกิจการใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ

นายเจน กล่าวถึงพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวว่า ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการ โดยคาดว่าผู้ประกอบการที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะที่อุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากประเด็นนี้คืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ

"สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลคือ 1.กลไกที่มีอยู่ทำได้ง่ายหรือทำได้โดยสะดวกหรือเปล่า 2.ถ้าช้าตรงกระบวนการของประเทศเพื่อนบ้านจะทำยังไง นี่คือ 2 ประเด็นที่เรากังวลและฝากภาครัฐดูแล" นายเจน กล่าว

ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้น นายเจน กล่าวว่า ปัจจัยมาจากดอลลาร์อ่อนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯต่างๆที่ออกมา ภาวะการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เกิดขึ้น ซึ่งส.อ.ท. มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

"เราเห็นว่า ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแต่ความสามารถในการแข่งขันเรายังสามารถขายของได้ แต่ถ้าแข็งค่าด้วยปัจจัยภายนอก เช่น การเคลื่อนย้ายเงินทุนซึ่งทำให้เราเดือดร้อน ซึ่ง ธปท.ก็มีมาตรการหลายๆอย่างอยู่ในมือ เพียงแต่เราคงส่งสัญญาณให้ ธปท.ดูแลใกล้ชิด บางครั้งเราก็ดูว่าจังหวะที่มันกระโดดไป เป็นผลระยะสั้นหรือระยะยาว ถ้าเป็นผลระยะสั้นเดี๋ยวมันก็ปรับตัวลงมาเอง"

ทั้งนี้ มองว่าผู้ประกอบการน่าจะอาศัยช่วงที่เงินบาทแข็งค่าอยู่ในขณะนี้ลงทุนนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ที่เป็นดิจิทัล ออโตเมชั่นมากขึ้น เพื่อทดแทนแรงงานที่อาจจะหายไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ