ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการการส่งออกของไทยในปี 60 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8% จากเดิมที่คาดไว้ 2% ภายหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกสินค้าไทยในเดือนมิ.ย.60 อยู่ที่ 20,281.8 ล้านดอลลาร์ฯ แตะระดับ 20,000 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ขยายตัว 11.7% สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 7.9% ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าไทยโดยเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.60) อยู่ที่ 18,924 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 7.8% นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ท่ามกลางทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่ชะลอตัว
โดยสินค้าข้าว มีปริมาณการส่งออกขยายตัวมากถึง 44.4% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากประเทศผู้ส่งออกข้าวอย่างศรีลังกา และบังกลาเทศประสบอุทกภัยในช่วงเดือนพ.ค.60 ประกอบกับสภาพอากาศของไทยในปีนี้เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากพอกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มาตรการสนับสนุนของกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นการขายและส่งมอบข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับจีน รวมถึงการให้ความสนับสนุนแก่ภาคเอกชนที่มีเป้าหมายการส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคแอฟริกา ก็ช่วยหนุนให้ปริมาณการส่งออกข้าวไปเบนินเพิ่มขึ้น 170.5% และจีนเพิ่มขึ้น 376.4% ทั้งนี้ จากปัจจัยบวกดังกล่าว แม้บางปัจจัยจะเป็นปัจจัยเชิงฤดูกาลแต่ก็คาดว่าน่าจะยังเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการขยายตัวของส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้
ขณะที่น้ำตาล ปริมาณการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวในแดนบวกที่ 4.8% ในเดือนมิ.ย.60 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปไต้หวัน จีน และกลุ่มประเทศอาเซียน (9) เป็นสำคัญ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งส่งออกน้ำตาลก่อนมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำตาลของไทย
นอกจากนี้ กระแส Internet of Things (IoTs) ของโลกเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยหนุนการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 19.1% ในเดือนมิ.ย.60 ซึ่งวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไปจะมีระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับกระแส IoTs ก็น่าจะทำให้การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าจากข้อมูลการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จะเห็นว่าการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์น่าจะเป็นแรงสนับสนุนหลักให้การส่งออกสินค้าศักยภาพของไทยสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่จากผลทางด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่อการส่งออกไทยที่ทยอยลดลงและคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปยังครึ่งปีหลัง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอ่อนลงจากช่วงครึ่งแรกของปี ก็น่าจะเป็นแรงกดดันให้การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรก
"จากมูลค่าส่งออกสินค้าไทยที่ขยายตัวสูงเกินคาดในช่วงครึ่งปีแรก จึงทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยตลอดทั้งปี 2560 มาอยู่ที่ 3.8% จากเดิมที่ 2.0%" บทวิเคราะห์ระบุ