นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายการส่งเสริมใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่ ปี 2545 ทำให้ปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนจากแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบติดตั้งบนพื้นดินที่เรียกว่า "โซล่าร์ฟาร์ม" หรือการติดตั้งบนหลังคาอาคารที่เรียกว่า "โซล่าร์รูฟท็อป" และมีแนวโน้มการใช้อย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
สำหรับแผงโซล่าร์เซลล์นั้นมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี ภายหลังสิ้นอายุการใช้งานหรือหมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้าแล้วจะเกิดเป็นซากของเสียขึ้น ซึ่งจากการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์จนถึงปัจจุบัน ประเมินว่าจะทยอยเกิดเป็นซากแผงโซล่าร์เซลล์ขึ้นในอีก 25 ปี รวมกว่า 5 แสนตัน
นายมงคล กล่าวต่อว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อเตรียมรับมือกับซากแผงโซล่าร์เซลล์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเพื่อเข้าระบบการจัดการอย่างถูกต้อง โดยเน้นการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้มีการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์อย่างครบวงจร ส่งเสริมภาครัฐให้ออกมาตรการทางกฎหมายที่กับการบริหารจัดการ รวมถึงเป้าหมายในเรื่องการรีไซเคิลแผงโซล่าร์เซลล์อย่างครบวงจร นอกจากนี้ ในแผนแม่บทดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้มีการเสนอให้เอกชนตั้งโรงงานต้นแบบการรีไซเคิลซากแผงโซล่าร์เซลล์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรวบรวม คัดแยก และนำของเสียกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"จากการประเมินแนวโน้มการติดตั้งตามนโยบายรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีซากแผงโซล่าเซลล์ที่สิ้นอายุการใช้งานจำนวนกว่า 5 แสนตัน ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากและจะต้องมีโรงงานดำเนินการจัดการรองรับซากปริมาณเกิดขึ้น และในอนาคตอันใกล้ กรมโรงงานฯ จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างโรงงานที่มีความพร้อมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อเป็นโรงงานนำร่องในการจัดการแผงโซล่าร์เซลล์อย่างเป็นระบบ" อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดปัจจุบันในต่างประเทศได้มีการรีไซเคิลหลากหลายรูปแบบ อาทิ การบดแยกด้วยแม่เหล็ก หรือการแยกด้วยความหนาแน่น การกัดด้วยกรดและสารละลายต่างๆ การเผาการถลุงโดยใช้ความร้อน การหลอม รวมถึงวิธีอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ