ประกาศกระทรวงดีอี 5 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว นักวิชาการแนะ กสทช.ปราบเว็บหมิ่นใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ตรงจุดกว่า

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 23, 2017 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเทคโนโลยี เปิดเผยถึงกรณีที่มีประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) 5 ฉบับ ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.คอมพ์) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.ว่า ประกาศดังกล่าวได้มีการปรับปรุงจากร่างที่กระทรวงดีอีนำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนประมาณ 30% โดยประเด็นที่มีการเพิ่มเติม เช่น กรณีการส่งอีเมล์, SMS, ไลน์ หรือข้อความอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดกฏหมายหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ถือเป็นสแปมและมีความผิดตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่สงสัยว่าสิ่งที่ส่งเป็นสแปมหรือไม่นั้นปลัดกระทรวงดีอีจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัย

ประเด็นถัดมา คือ การให้ผู้ให้บริการลบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย เดิมเมื่อมีการแจ้งความและลงบันทึกประจำวันให้ลบข้อมูลทันที เพื่อไม่ให้เป็นการเซ็นเซอร์ฝ่ายเดียว จึงเปิดโอกาสให้เจ้าของข้อมูลโต้แย้งได้ว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ผิดกฎหมาย โดยต้องชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่ควรถูกลบข้อมูลได้ จากนั้นให้เป็นดุลยพินิจของผู้ประกอบการจะพิจารณาว่าควรนำข้อมูลนั้นกลับมาเผยแพร่ได้หรือไม่

สำหรับระยะเวลาในการลบข้อมูล จากเดิมมีข้อถกเถียงว่าควรจะใช้เวลากี่วันในการลบข้อมูลนั้น ล่าสุดได้มีการเพิ่มเติมกรณีเป็นข้อมูลปลอมหรือเท็จมีผลกระทบต่อประชาชนให้ลบเร็วที่สุดแต่ไม่เกิน 7 วัน ส่วนกรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงและสถาบันต้องลบให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง ส่วนข้อความลามกอนาจารให้ลบภายใน 3 วัน และถ้ามีปัญหาในการตีความให้อำนาจปลัดกระทวงดีอีตั้งคณะทำงานที่มาจาการัฐและเอกชนร่วมกันพิจารณา

สำหรับประกาศที่มีการแก้ไขมากที่สุด คือ ประกาศเกี่ยวกับการเปรียบเทียบปรับ โดยให้การเปรียบเทียบอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธาน โดยมีกรรมการจากฝ่ายกฎหมายกระทรวงอีอี และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (ปอท.) เป็นกรรมการ ทั้งนี้ กรรมการเปรียบเทียบปรับจะตั้งคณะกรรมการประจำจังหวัดและภูมิภาคให้มีหน้าที่ดูแลการสืบสวนสอบสวนและทำหน้าที่เปรียบเทียบปรับ สำหรับคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ยังคงมีปลัดกระทวงดีอีเป็นประธาน โดยมีกรรมการจาก 7 สาขา คือ สื่อสารมวลชน, สิทธิมนุษยชน, นิติศาสตร์, วัฒนธรรม, คอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมี ผอ.กองกฎหมายกระทรวงดีอี หลังจากได้คณะกรรมการกลั่นกรองแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านอีก 8 คน การปิดบล็อกเว็บไซต์ ให้การปิดบล็อกเป็นการดำเนินการทำสารบบเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ โดยเมื่อปิดบล็อกแล้วให้รายงานมาที่กระทรรวง ให้มีการทำคู่มือระบุว่ากรณีเช่นใดที่เข้าข่าวถูกปิดบล็อกเว็บไซต์

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีความพยายามกำกับดูแลเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย และดูแลกิจการกระจายเสียงและแพร่ภาพ ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงและแพร่ภาพ หรือ OTT (Over The Top) นายไพบูลย์ กล่าวว่า กสทช.ไม่มีกฏหมายฉบับใดที่อยู่ในการรักษาการจะให้ทำได้ การกำกับผ่าน พ.ร.บ.คอมพ์น่าจะตรงจุดกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง OTT หรือการดูแลเนื้อหาเว็บไซต์ โดยหลักการควรอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพ์ หรือพ.ร.บ.ความมั่นคงทางไซเบอร์ กสทช.เป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้นจึงควรใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ แล้วประสานกับกระทรวงดีอีจะเหมาะสมกว่า ขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดกฎหมายย่อมขัดต่อพ.ร.บ.คอมพ์เตอร์ ซึ่งกระทรวงดีอีทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลตามกฎหมายอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ