ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมรอบห้าของปี 2560 ในวันที่ 25-26 ก.ค.60 แต่ประเด็นที่ต้องจับตาของการประชุมเฟดครั้งนี้คงจะอยู่ที่การสื่อสารของเฟดหลังการประชุมถึงความสอดคล้องกับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่มีการนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการการเงินแห่งสภาคองเกรส รวมถึงรายละเอียดประเด็นการปรับลดขนาดงบดุลที่คงมีการเปิดเผยมากขึ้น เพื่อปูทางไปสู่จุดเริ่มต้นของการดำเนินการลดขนาดงบดุลที่อาจจะเกิดขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป
"เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.00-1.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้ เพื่อรอดูพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตลาดแรงงานยังคงสะท้อนภาพฟื้นตัวแข็งแกร่ง ท่ามกลางมุมมองความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น ส่งผลให้โอกาสที่สหรัฐฯ จะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคงมีน้อยลง และไม่น่าจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นตามที่เฟดคาด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ บันทึกการประชุมของเฟดที่คงมีประเด็นที่ต้องติดตามที่สำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรกคือ การสื่อสารมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ถึงมุมมองที่สอดคล้องกับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่มีการนำเสนอต่อคณะกรรมมาธิการการเงินแห่งสภาคองเกรสในวันที่ 13 ก.ค.60 ที่ได้ระบุถึงความเหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เฟดยังได้ระบุว่าระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังคงต่ำกว่าระดับปกติที่ควรจะเป็นเล็กน้อย อันเป็นการตอกย้ำถึงมุมมองของเฟดที่มองว่ายังสามารถที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันได้อีกเล็กน้อย นอกจากนี้ ประธานเฟดยังระบุถึงจังหวะในการเริ่มกระบวนการลดขนาดงบดุลที่คงเกิดขึ้นในไม่ช้า
ประเด็นต่อมาคือ รายละเอียดแนวทางปฎิบัติการปรับลดขนาดงบดุลที่คงจะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่เฟดได้มีการทำแผนการลดขนาดงบดุลในการประชุมรอบ มิ.ย.60 ที่ผ่านมา อันระบุถึงกรอบเพดานสูงสุดสำหรับตราสาร ทั้งพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ของหน่วยงานของรัฐ และหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน หรือ MBS ที่คงจะมีการให้รายระเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อลดความคลาดเคลื่อนของตลาด โดยเฉพาะประเด็นการปรับเปลี่ยนระดับการลดขนาดงบดุลให้สอดคล้องกับพัฒนาการเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระยะข้างหน้า
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค.60 ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงปรับลดลงอาจส่งผลให้เฟดเว้นระยะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยาวนานขึ้น โดยเฟดคงรอติดตามพัฒนาการเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดว่ายังคงสอดคล้องกับมุมมองของเฟดที่มองว่าการปรับลดลงของเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราว ประเด็นที่ต้องติดตามคงได้แก่ การสื่อสารของเฟดที่จะเปิดเผยออกมาหลังการประชุมว่ายังคงสอดคล้องกับถ้อยแถลงของของประธานเฟดต่อกรรมาธิการการเงินในวันที่ 13 ก.ค.2560 หรือไม่ เนื่องจากมุมมองอัตราดอกเบี้ยของเฟดกับตลาดการเงินที่มีความแตกต่างกันมากขึ้น อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้ตลาดกลับมาผันผวนอีกครั้ง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ