นายสุรงค์ บูลกูล ประธานกรรมการ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และที่ปรึกษาสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวในงานสัมมนา "เศรษฐกิจไทยได้อะไรจากการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชน" ว่า สิ่งที่ได้จากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของบริษัทเอกชนไทย คือ การได้ขยายตลาดเพิ่มขึ้น และได้วัตถุดิบ เพื่อเข้ามาต่อยอดกับการดำเนินธุรกิจในประเทศ โดยมองการออกไปลงทุนในต่างประเทศจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะต้องมีด้วยกัน 4 ปัจจัยหลัก คือ ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยี , การเชื่อมโยง (Connectivity) ,เงินลงทุน และบุคลากรที่มีประสิทธภาพ
"ถ้าเรามียุทธศาสตร์ชัดเจนว่า เมียนมา,ลาว,กัมพูชา,จีน จะทำอะไร เรามีกลไกที่จะซัพพอร์ตเรื่องนี้อย่างไร เราจะเห็นว่าการลงทุนจะมีประสิทธิภาพและมี value added ให้กับประเทศโดยตรง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งภาครัฐเข้ามาช่วยปิดจุดอ่อน และจะทำอย่างไรให้ incentive บริษัทใหญ่ดึงบริษัทเล็กเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้"นายสุรงค์ กล่าว
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหาภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า นโยบายที่ภาครัฐพยายามที่จะเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นศูนย์รวมในหลาย ๆ ด้าน ที่น่าจะตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ อย่างโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของไทย ทางรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนควบคู่กันไปด้วย
ขณะที่การขยายการลงทุนของบริษัทเอกชน หากมีโอกาสที่ดี และมีเทคโนโลยีที่ดี ทางรัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐก็จะทำไปควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเช่นกัน
นางสาวภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้นนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรจะปลดล็อคกฎ กติกา ที่ไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มองว่านักลงทุนอาจจะมองประเทศไทยไม่น่าลงทุน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัทเอกชนจะได้รับจากการออกไปลงทุนต่างประเทศ คือ มีโอกาสสูงในการเข้าถึง supply chain ,การแข่งขันในตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และการสร้างพลวัตรที่มีรายละเอียดหลากหลาย