นายสุรงค์ บูลกูล ประธานกรรมการ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และที่ปรึกษาสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวในงานสัมมนา "เศรษฐกิจไทยได้อะไรจากการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชน" ว่า สิ่งที่ได้จากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของบริษัทเอกชนไทย คือ การได้ขยายตลาดเพิ่มขึ้น และได้วัตถุดิบ เพื่อเข้ามาต่อยอดกับการดำเนินธุรกิจในประเทศ โดยมองการออกไปลงทุนในต่างประเทศจะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะต้องมีด้วยกัน 4 ปัจจัยหลัก คือ ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยี , การเชื่อมโยง (Connectivity) ,เงินลงทุน และบุคลากรที่มีประสิทธภาพ
"ถ้าเรามียุทธศาสตร์ชัดเจนว่า เมียนมา,ลาว,กัมพูชา,จีน จะทำอะไร เรามีกลไกที่จะซัพพอร์ตเรื่องนี้อย่างไร เราจะเห็นว่าการลงทุนจะมีประสิทธิภาพและมี value added ให้กับประเทศโดยตรง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งภาครัฐเข้ามาช่วยปิดจุดอ่อน และจะทำอย่างไรให้ incentive บริษัทใหญ่ดึงบริษัทเล็กเข้าไปลงทุนในต่างประเทศได้"นายสุรงค์ กล่าว
ด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหาภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า นโยบายที่ภาครัฐพยายามที่จะเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นศูนย์รวมในหลาย ๆ ด้าน ที่น่าจะตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ อย่างโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของไทย ทางรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนควบคู่กันไปด้วย
ขณะที่การขยายการลงทุนของบริษัทเอกชน หากมีโอกาสที่ดี และมีเทคโนโลยีที่ดี ทางรัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนผ่านทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งภาครัฐก็จะทำไปควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศเช่นกัน
นางสาวภวิดา ปานะนนท์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจะทำให้ประเทศไทยมีความน่าสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้นนั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ควรจะปลดล็อคกฎ กติกา ที่ไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มองว่านักลงทุนอาจจะมองประเทศไทยไม่น่าลงทุน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัทเอกชนจะได้รับจากการออกไปลงทุนต่างประเทศ คือ มีโอกาสสูงในการเข้าถึง supply chain ,การแข่งขันในตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และการสร้างพลวัตรที่มีรายละเอียดหลากหลาย
นางสาวปฐมาภรณ์ นิธิชัย ฝ่ายวิจัยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงผลงานวิจัยการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนไทยปี 59 ว่า ณ สิ้นปี 59 บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เข้าไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น มี 198 บริษัทที่จดทะเบียนใน SET และ 35 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยคิดเป็น 39% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 511 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็น 71% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 59 โดยบริษัทที่มีสถานะลงทุนในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 192 บริษัทในปีก่อน
ขณะเดียวกัน ใน 198 บริษัทที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ พบว่า 78% ลงทุนในอาเซียน และ 59% ลงทุนใน CLMV ซึ่งหากพิจารณา ในอาเซียนมีจำนวนบจ.ไทย ไปลงทุนในประเทศเมียนมามากกว่าประเทศอื่น โดยเข้าไปลงทุนในกลุ่มทรัพยากร ส่วนสาเหตุที่ บจ.ไทยเลือกที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา น่าจะเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดประเทศ ทำให้โอกาสทางธุรกิจเปิดกว้างขึ้น จึงทำให้เป็นโอกาสของ บจ.ไทย
นางสาวปฐมาภรณ์ กล่าวว่า สำหรับปี 59 บจ.มีมูลค่าเงินลงทุนทางตรงในต่างประเทศสุทธิ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่มีมูลค่า 7.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีรายการลงทุนขนาดใหญ่เกิน 1 หมื่นล้านบาท 3 รายการ ซึ่งมีมูลค่ารวม 7.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 41% ของมูลค่าเงินลงทุนรวมในปี 59 ส่วนทิศทางการลงทุนในแต่ละปี ไม่ได้มีทิศทางที่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าในนประเทศนั้น ๆ จะมีโอกาสทางธุรกิจประเภทใด มีแผนการลงทุนแบบใด แต่ในปีไหนที่มีเงินลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทบางแห่งจะทำให้มูลค่าเงินลงทุนก้าวกระโดดไปด้วย
สำหรับวิธีการลงทุนที่บริษัทใช้เงินลงทุนไป ส่วนใหญ่จะเป็นการหาพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศ มากกว่าที่จะเริ่มลงทุนเอง โดยอุตสาหกรรมที่บจ.ไทยเข้าไปลงทุนก็กระจายไปในทุกอุตสาหกรรม และทุกขนาด ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันบริษัทที่มีขนาดเล็กเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนบริษัทขนาดใหญ่อาจมีการไปลงทุนในต่างประเทศมานานแล้ว จำนวนจึงยังคงที่ โดยใน SET50 มีบริษัทที่ไปลงทุนในต่างประเทศประมาณ 40 บริษัท ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) หรือ SET300 มีจำนวนบริษัทที่ไปลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการไปลงทุนในต่างประเทศของ บจ.ต่างๆ นั้น ก็มีการกระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในอาเซียนเท่านั้น
ด้านรายได้จากต่างประเทศรวมรายได้จากส่วนงานในต่างประเทศและรายได้จากการส่งออกในปี 59 ของบจ.ที่รายงานข้อมูลรายได้จากต่างประเทศจำนวน 238 บริษัท มีมูลค่าสุทธิ 2.3 ล้านล้านบาท ลดลง 1.6% จากปี 58 แต่หากพิจารณาการเติบโตในระยะยาวโดยคำนวณจากบริษัทเดิมที่แสดงรายได้จากต่างประเทศ ครบถ้วนตั้งแต่ปี 49-59 จำนวน 107 บริษัทพบว่า รายได้จากต่างประเทศในช่วงปี 49-59 เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่ารายได้ในประเทศที่เติบโตเฉลี่ย 3% ต่อปี เป็นเหตุให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศต่อรายได้รวม ของ 107 บริษัทดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 47% ของรายได้รวมในปี 59 จาก 36% ของรายได้รวมในปี 49
ด้านนายภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เปิดเผยว่า การลงทุนในต่างประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 49-59) พบว่า จากเดิมประเทศไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนค่อนข้างมาก เฉลี่ยประมาณกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันกลับเป็นบริษัทไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดที่น่าสนใจว่า นโยบายภาครัฐ รวมถึงนโยบายต่างๆ ในอนาคต มีการปรับตัว หรือมีการทำให้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร