ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 60 จะพลิกฟื้นกลับขึ้นมาเป็นบวกอีกครั้งในรอบสองปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของไทย เนื่องจากอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง โดยคาดว่า มูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยจะสูงถึง 34,670 – 35,370 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 7.2 – 9.4% จากปี 59 ที่หดตัวราว 0.8% โดยได้รับปัจจัยหนุนหลักอยู่ 3 ประการ คือ 1) การเติบโตของการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟอันเนื่องมาจากการอยู่ในช่วงเวลาของวัฏจักรการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์จากอายุการใช้งานในตลาดโลก 2) การเติบโตของการส่งออกวงจรรวมจากแรงหนุนของเทรนด์อุปกรณ์อัจฉริยะในอุตสาหกรรมต่างๆ และ 3) การเติบโตของการส่งออกสมาร์ทโฟนจากการที่มีผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติญี่ปุ่นรายหนึ่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออกในไทย
โดยการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ของไทยจะฟื้นตัวดีขึ้น อันเนื่องมาจากวัฏจักรการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์จากอายุการใช้งานในตลาดโลก (ทุกๆ 5 – 7 ปี) ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูความต้องการคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของตลาดโลกในช่วงปี 53 – 55 จะเห็นได้ว่า มีการเติบโตค่อนข้างสูง เฉลี่ยราว 11.2% ต่อปี และถึงแม้ว่าในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอมพิวเตอร์ได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต แต่จากปัจจัยบวกทางด้านวัฏจักรการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดคอมพิวเตอร์โลกส่งสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนจากตัวเลขมูลค่าการนำเข้าคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบของโลกในไตรมาส 1/60 ที่พลิกกลับมาขยายตัวอยู่ราว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
เมื่อหันกลับมาพิจารณาถึงการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของไทย จะพบว่า ไทยมีสัดส่วนการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟมากที่สุดของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งหมด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การฟื้นตัวของความต้องการคอมพิวเตอร์ในตลาดโลก ตามที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ที่จะส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการใช้ศูนย์บริการเก็บข้อมูล (Data Center) เพิ่มสูงขึ้น น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2560 โดยคาดว่า มูลค่าการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของไทยในปี 60 น่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6% จากปี 59
ด้านการส่งออกวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) ปัจจุบัน ความต้องการวงจรรวมในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่ระบบการทำงานแบบอัจฉริยะในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น โดยการทำงานแบบระบบอัจฉริยะดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยวงจรรวมที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำคัญอย่างเซ็นเซอร์และส่วนประมวลผลในการทำงาน จึงทำให้ตลาดวงจรรวมของโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าวงจรรวมและส่วนประกอบของโลกที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยราว 4.3% ต่อปี (ช่วงปี 56 – 59) และน่าจะส่งผลบวกต่อประเทศผู้ผลิตและส่งออกวงจรรวมให้มีภาพรวมการส่งออกวงจรรวมที่เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการผลิตและส่งออกวงจรรวมของไทยในปัจจุบัน พบว่า ไทยมีการผลิตวงจรรวมโดยบริษัทต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งบริษัทต่างชาติเหล่านั้นอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ ดังนั้น วงจรรวมของไทยส่วนใหญ่จึงถูกส่งออกไปยังประเทศผู้ผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนอัจฉริยะ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกในปี 59 ประมาณ 23.8% ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด วงจรรวมจึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอีกแรงหนึ่งสำหรับการเติบโตของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยโดยรวม ทั้งนี้ จากความต้องการวงจรรวมในตลาดโลกที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์ผลิตภัณฑ์อัจฉริยะ ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจของตลาดที่พัฒนาแล้วมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งผู้บริโภคในกลุ่มตลาดดังกล่าวมักนิยมใช้ผลิตภัณฑ์อัจฉริยะในชีวิตประจำวัน ย่อมส่งผลดีต่อการส่งออกวงจรรวมของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 60 การส่งออกวงจรรวมและส่วนประกอบของไทย น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 8% จากปี 59
ส่วนการส่งออกสมาร์ทโฟนของไทยในปี 60 น่าจะมีการเติบโตอย่างโดดเด่น อันเนื่องมาจากการที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนสัญชาติญี่ปุ่นรายหนึ่งได้ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนและญี่ปุ่น เพื่อมาตั้งโรงงานสำหรับการผลิตและส่งออกสมาร์ทโฟนในประเทศไทยในช่วงปี 58 – 59 ที่ผ่านมา และเริ่มการผลิตอย่างจริงจังในช่วงไตรมาสที่ 4/59 โดยมีเป้าหมายการส่งออกสมาร์ทโฟนสำหรับกลุ่มตลาดบนไปยังกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี สวีเดน เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสมาร์ทโฟนของไทยเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด สะท้อนจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยในปี 59 ที่ผ่านมาที่มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 22.0% จากปี 58 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 60 มูลค่าการส่งออกโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับสูงถึง 287.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 59
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกสมาร์ทโฟนของไทยอาจต้องเผชิญกับความท้าท้ายมากขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากแบรนด์คู่แข่งน่าจะทำการตลาดที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อพยายามรักษาส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มตลาดบน ขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานรายใหม่เริ่มมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสมาร์ทโฟนโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้การส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟของคอมพิวเตอร์ วงจรรวม และสมาร์ทโฟน มีสัดส่วนรวมกันราว 56% ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่ภาพรวมในปี 61 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยน่าจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 60 อันเนื่องมาจากการขยายตัวของการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟเป็นปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวและน่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อถึงช่วงกลางถึงปลายของวัฏจักรการเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ในตลาดโลก รวมถึงการส่งออกสมาร์ทโฟนของไทยที่น่าจะขยายตัวในวงจำกัดในระยะข้างหน้าจากการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดสมาร์ทโฟนโลก ทำให้การส่งออกสมาร์ทโฟนของไทยจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันและการทำการตลาดที่ประสบความสำเร็จของแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นดังกล่าวในตลาดโลก
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 61 การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยน่าจะมีมูลค่าประมาณ 36,070 – 36,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตอยู่ในกรอบราว 3.0 – 5.1% จากปี 60
นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลากหลายประการ อาทิ ความท้าทายจากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟไปสู่เทคโนโลยีโซลิดสเตตไดรฟ์ (Solid State Drive: SSD) เทรนด์การพัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่างเซ็นเซอร์และส่วนประมวลผลที่ซับซ้อนมากขึ้น อันเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในอุปกรณ์อัจฉริยะที่น่าจะมีศักยภาพเติบโตขึ้นอีกมากในระยะข้างหน้า รวมไปถึงความท้าทายจากคู่แข่งในตลาดที่มีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและมีความสามารถในการทำการตลาด ดังนั้น การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในระยะยาว จะขึ้นอยู่กับการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตอบสนองต่อเทรนด์เทคโนโลยีในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์อัจฉริยะ รวมไปถึงอุปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการจัดเก็บข้อมูลอย่างโซลิดสเตตไดรฟ์
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ไทยยังต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาด้านการขาดแคลนเทคโนโลยีและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่งผลให้ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ดังนั้น การเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยจึงจำเป็นต้องมีการเร่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นต้นน้ำเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีในระยะยาว นอกจากนี้ การเลื่อนขั้นในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย อาจต้องขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องการการผลักดันอีกมากในอนาคต