ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 60 คนไข้ชาวต่างชาติจะทำรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 48,000-49,000 ล้านบาท ขยายตัว 3-4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวประมาณ 8% โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากจำนวนคนไข้ต่างชาติ (ที่ไม่ใช่กลุ่มตะวันออกกลาง) รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่ อัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยของคนไข้ชาวต่างชาติน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านครั้ง แบ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism 2.4 ล้านครั้ง ในขณะที่ กลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ทำงานและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย (Expatriate) หรือเรียกสั้นๆ ว่ากลุ่ม EXPAT มีประมาณ 9.0 แสนครั้ง
ทั้งนี้ ในปี 60 ตลาดคนไข้ต่างชาติในเอเชีย อาทิ CLMV จีน และญี่ปุ่น น่าจะเป็นตลาดที่เข้ามามีบทบาทในการทำรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น ทดแทนตลาดหลักเดิมอย่างตะวันออกกลาง (อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โอมาน คูเวต กาตาร์) ซึ่งเดิมเป็นตลาดหลักของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทย อาจจะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อัตราการเติบโตของรายได้กลุ่มลูกค้าตะวันออกกลางของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจับตลาดคนไข้ชาวต่างชาติเป็นหลัก ส่งสัญญาณหดตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจาก 1) การปรับนโยบายค่ารักษาพยาบาลในประเทศ รวมถึง 2) การสร้างศูนย์การแพทย์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐานในหลายประเทศในตะวันออกกลาง สัญญาณดังกล่าวอาจจะทำให้คนไข้กลุ่มประเทศเหล่านี้หันไปใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศมากขึ้น
จากภาพรวมดังกล่าว กลายเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยที่จะต้องปรับตัวโดยการมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพมาทดแทนรายได้จากกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพิงรายได้จากกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูง อีกทั้งก่อนหน้านั้น ยังได้มีการลงทุนขยายกิจการเพิ่มขึ้น (Fixed Assets) หรือทำการปรับปรุง ซ่อมแซมใหม่ให้ดีขึ้น (Renovate) เพื่อรองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้น หลายประเทศอย่าง UAE คูเวต หรือกาตาร์ถือเป็นกลุ่มลูกค้าต่างชาติหลักของโรงพยาบาลเอกชนไทย จึงคาดว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการรักษาพยาบาลในระยะข้างหน้า
"ตลาดคนไข้ในเอเชียน่าจะเป็นตลาดที่มีบทบาทมากขึ้น และกลายเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนไทยทดแทนคนไข้ตะวันออกกลางที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า Medical Tourism ที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวตามกระแสท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก รวมถึงกลุ่มลูกค้า EXPAT ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 3-4% ต่อปี"
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในอนาคตแม้ตลาด Medical Tourism ยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งการแข่งขันด้วยกันภายในประเทศที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดบริการสุขภาพมากขึ้น รวมถึงคู่แข่งที่สำคัญของไทยอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งต่างก็ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำตลาด Medical Tourism เช่นกัน
ดังนั้นเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน ผู้ประกอบการไทยควรที่จะรักษาจุดแข็งทางด้านต่างๆ เอาไว้ โดยเฉพาะคุณภาพและมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในการเข้ารับบริการของลูกค้า พร้อมกับการชูกลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่นหรือแตกต่างในการเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อาทิ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เป็นจุดขาย หรือการชูความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะด้าน เช่น การรักษาโรคเฉพาะทางที่เน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเด็ก เป็นต้น
นอกจากนี้ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น อีกทั้งโครงสร้างประชากรของแต่ละประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการอาจจะใช้โอกาสดังกล่าว โดยหันไปขยายบริการจากเน้นรักษาโรคไปสู่การป้องกันดูแลสุขภาพที่ครบวงจร (Health and Wellness) ไม่ว่าจะเป็น การเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยอาจจะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น บริษัทเอเจนซี่/กรุ๊ปทัวร์/บริษัทประกันสุขภาพ ในการทำ Promotion หรือจัดทำ Package สุขภาพที่เหมาะสมลงไปในโปรแกรมท่องเที่ยว (Medical Holiday/Vacation Package) อาทิ ตรวจสุขภาพทั่วไป ทันตกรรม ศัลยกรรมความงาม การฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพระยะยาว หรือแม้แต่การจัดทำ Road Show ร่วมกับหน่วยงานของภาครัฐ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงศักยภาพของบริการทางการแพทย์ของไทย หรือทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสาร ผ่านกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการใช้บริการทางการแพทย์ หากเข้ามาท่องเที่ยวในไทยครั้งถัดไป
การจับตลาดกลุ่มผู้สูงอายุชาวต่างชาติ ที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากภาครัฐได้มีการขยายระยะเวลาพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) ในไทยให้กับผู้สูงอายุชาวต่างชาติจาก 1 ปี เป็นไม่เกิน 10 ปี ซึ่งถือเป็นการลดอุปสรรคทางการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซียที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสูงอายุพำนักระยะยาวในประเทศได้ 10 ปีเช่นเดียวกัน และจากการจัดอันดับของ International Living Magazine เรื่อง The World’s Best Places to Retire in 2017 พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยมีจุดเด่นทางด้านสันทนาการบันเทิง บริการสุขภาพและวัฒนธรรม ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับตลาดกลุ่ม Long Stay โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวสูงอายุแต่ละประเทศซึ่งมีความชอบหรือมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
"แม้ปัจจุบันตลาด Medical Tourism จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่การขยายตลาด Medical Tourism ก็จะต้องตระหนักถึงคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการทางการแพทย์ รวมถึงการบริหารจัดการบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการเป็น Medical Hub ที่รองรับกับตลาดคนไข้ต่างชาติที่เพิ่มขึ้น และความมั่นคงในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขพื้นฐานแก่คนไทยในประเทศ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ