กรมโรงงานฯ เผย 14 บริษัทนำร่องร่วมใช้บริการ AUTO e-License จัดการระบบกากอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 26, 2017 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดตัวระบบ AUTO e-License ระบบการขออนุญาตนำกากที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานเพียง 3 นาทีด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยผู้ประกอบการเพียงยื่นขออนุญาต สก.2 ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้นระบบฯ จะตรวจสอบข้อมูลทุกรายการในคำขอที่ยื่นขออนุญาต กับข้อมูลสารสนเทศที่มีในระบบ และจะประมวลผลพิจารณาอนุญาตตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบจะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามในอดีตผู้ประกอบการต้องใช้เวลายื่นเอกสารกว่า 10-30 วัน โดยการพัฒนาดังกล่าวล้วนสอดรับ นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกากอุตสาหกรรมในระบบมีมากถึงปีละ 38 ล้านตัน ประกอบกับการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนที่รัดกุมตามที่กฎหมายกำหนดมากมาย จึงทำให้ที่ผ่านมาการนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานแต่ละครั้งต้องใช้เวลานาน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้พัฒนาระบบการอนุญาตกากอุตสาหกรรมในรูปแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-License) เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ และอำนวยความสะดวกเพิ่มความรวดเร็วในการนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงาน

โดยเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการยกระดับการทำงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะพัฒนาองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ DIW 4.0 เช่นเดียวกัน เพื่อให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบภายในเวลา 5 ปี

ด้านนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ระบบ AUTO e-License ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ทางผู้ประกอบการเพียงยื่นขออนุญาต สก.2 ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้นระบบฯ จะตรวจสอบข้อมูลทุกรายการในคำขอที่ยื่นขออนุญาตกับข้อมูลสารสนเทศที่มีในระบบ และจะประมวลผลพิจารณาอนุญาตตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบจะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่ และจะดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลเพียง 3 นาที โดยการทำงานของระบบจะพิจารณาข้อมูลเอกสารที่ยื่นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น และปลายทางบริษัทผู้รับกำจัดจะต้องเป็นกลุ่มผู้ประกอบการชั้นดี

"ในปี 2560 นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้นำร่องร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ AUTO e-License และบริษัทผู้รับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรม จำนวน 9 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 14 บริษัท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการชั้นดีที่คัดกรองโดยกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย" นายมงคล กล่าว

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการก้าวสู่การยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องกับเป้าหมายของสภาอุตสาหกรรมที่ต้องการให้การยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมรวดเร็ว ประกอบกับในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดูแลผู้ประกอบการในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจึงทำได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงจะช่วยให้ภาครัฐสามารถจัดการกากอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิผลอันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

สำหรับรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการการอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 9 กลุ่ม 14 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ซึ่งคัดกรองโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แก่ 1.บมจ. ทีพีไอโพลีน (TPIPL) 2.บริษัท บางปู เอนไววรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 3.บริษัท อีสเทิร์น ซีบอร์ด เอนไวรอนเมนทอล คอมเพล็กซ์ จำกัด 4.บริษัท สุขเจริญทรัพย์ วังเย็น จำกัด 5.บมจ. เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (BWG) 6.บมจ. อัคคีปราการ (AKP) 7.บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) 8.บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด 9.บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย (SCC) 10.บริษัท เอส ซีไออีโค่ เซอร์วิสเซส จำกัด 11.บมจ. บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (GENCO) 12.บริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด 13.บริษัท ไมโครไบโอเทค จำกัด และ 14.บริษัท ไบโอนิค จำกัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ