สศค.เผยศก.ไทยมิ.ย.ยังโตต่อเนื่อง ส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก-บริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 27, 2017 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน มิ.ย.60 และไตรมาส 2/60 ว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีจากรายได้ที่แท้จริงของเกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดี สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มิ.ย.60 ยังคงขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ 15.6% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 2/60 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัว 13.9% ต่อปี หรือขยายตัว 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/60 หลังปรับปัจจัยพิเศษ สอดคล้องกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่แม้จะหดตัวเล็กน้อยที่ -2.6% ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการขยายตัวเร่งไปแล้วก่อนหน้า แต่ในไตรมาส 2/60 ยังสามารถขยายตัวได้ถึง 8.3% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวสูงถึง 15.3% ต่อปี

นอกจากนี้ ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัวที่ 2.1% ต่อปี ส่งผลทำให้ไตรมาส 2/60 สามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% ต่อปี หรือขยายตัว1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/60 หลังปรับปัจจัยพิเศษ

การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณดีขึ้นจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัวที่7.2% ต่อปี และขยายตัว 9.9% ต่อปี ในไตรมาส 2/60 สูงขึ้นจากไตรมาส 1/60 ที่ขยายตัว 1.2% ต่อปี ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่ดีขึ้น นอกจากนี้ แม้ว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย.60 จะแผ่วลงเล็กน้อยโดยหดตัวที่ -0.5% ต่อปี แต่ในไตรมาส 2/60 ขยายตัว 2.2% ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหักปัจจัยพิเศษพบว่า ขยายตัว 1.2% ต่อไตรมาส

สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 17.5% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 2/60 ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัว -9.7% ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 หลังปรับปัจจัยพิเศษ พบว่าสามารถขยายตัว 1.6% ต่อไตรมาส

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 11.7% ต่อปี และเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 หลังปรับปัจจัยพิเศษ ขยายตัว 0.9% ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ สำหรับตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน-5 จีน ญี่ปุ่น กลุ่ม CLMV สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาส 2/60 ขยายตัว 10.9% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 2.7% และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ไตรมาสที่ผ่านมา ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวต่อเนื่องที่ 13.7% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 2/60 ขยายตัว 15.2% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 1.2% ต่อไตรมาส ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวและการนำเข้าที่ฟื้นตัวได้ดี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไตรมาส 2/60 ดุลการค้าเกินดุลจำนวน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ช่วงครึ่งแรกปี 60 ดุลการค้าเกินดุลที่ 7.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านการผลิตได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.4% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดพืชผลสำคัญขยายตัว 17.2% ตามการขยายตัวของข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล และปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาส 2/60 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวต่อเนื่องที่ 16.8% ต่อปี

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มิ.ย.60 ขยายตัวสูงถึง 11.4% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากจีน กลุ่ม CLMV มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลี เป็นหลัก ทำให้ไตรมาส 2/60 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัว 7.6% ต่อปี

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ -0.05% และ 0.4% ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาส 2/60 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.1% และ 0.5% ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวม ทำให้ไตรมาส 2/60 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน พ.ค.60 อยู่ที่ระดับ 42.9% ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.60 อยู่ที่ระดับ 185.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 3.4 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ