นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.คงคาดการณ์อัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.6% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.3-3.9%) ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดี และกระจายในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าส่งออกสินค้าในปีนี้เป็นเติบโต 4.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะเติบโต 9.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 7.5%
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามการใช้จ่ายอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อันจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 60 จะอยู่ที่ 0.8% (โดยมีช่วงประมาณการ 0.5-1.1%) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 42.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 9.5% ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 9.2-9.8% ของ GDP)
"ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความผันผวนของตลาดเงินโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ"โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุ
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/60 เป็นไปตามคาดการณ์ที่ 3.4-3.5% ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/60 ที่โตได้ 3.3% ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ขณะนี้ภาพรวมในครึ่งปีหลังยังส่งสัญญาณขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนสำคัญ อาทิ เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น, ราคาน้ำมันในตลาดโลก และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปีนี้
ส่วนการท่องเที่ยว การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในระยะต่อไปมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเร่งลงทุนของภาครัฐซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนความมั่นใจให้ภาคเอกชน พร้อมกันนี้ยังมั่นใจว่าในสิ้นปีนี้ส่วนราชการจะสามารถเบิกจ่ายงบกลางปี 60 วงเงินรวม 1.9 แสนล้านบาทได้ตามเป้าหมายที่ 60% จากล่าสุดเบิกจ่ายแล้ว 27.6% ขณะที่รายได้ภาคเกษตรมีทิศทางที่ดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยต้องจับตา คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะมีทิศทางดีขึ้น แต่ยังมีความผันผวนโดยเฉพาะในตลาดการเงิน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่และเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่เสถียรภาพภายในประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้ว
นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า สศค.มองแนวโน้มเงินบาทในปีนี้จะแข็งค่าขึ้น จึงปรับคาดการณ์เงินบาทปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 60 จนถึงล่าสุดวันที่ 24 ก.ค.60 เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 34.62 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากตลาดเริ่มมีความกังวลในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้ตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ รวมทั้งกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ส่วนข้อกังวลว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกหรือไม่นั้น เชื่อว่าในส่วนนี้ ธปท.จะมีมาตรการในการดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
นายกฤษฎา ยังกล่าวถึงหลักเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.ในการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 18% จากปกติ 20% ว่า เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่หากมองอีกมุมการที่อัตราดอกเบี้ยลดลงนั้น จะเป็นผลดีทำให้การใช้จ่ายและการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ส่วนข้อกังวลว่าประชาชนจะหันไปพึงพาการกู้เงินนอกระบบมากขึ้นนั้น ส่วนนี้ไม่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการกู้เงินนอกระบบไว้หมดแล้ว จึงไม่น่าเป็นห่วง