นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59-มิ.ย.60) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้นจำนวน 1,742,827 ล้านบาท เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยรายได้นำส่งคลังต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 65,822 ล้านบาท หรือ 3.6% เนื่องจากในปีก่อนรัฐบาลมีรายได้พิเศษจากการประมูลคลื่นความถี่ 3G/4G และส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้นำส่งคลังปีนี้จะสูงกว่าก่อนจำนวน 21,379 ล้านบาท
ขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 2,257,468 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 8,818 ล้านบาท หรือ 0.4% ประกอบด้วย รายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 2,077,534 ล้านบาท หรือ 71.1% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (2,923,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.3% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 179,934 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.1%
สำหรับรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 2,077,534 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำจำนวน 1,803,009 ล้านบาท หรือ 77.8% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 2,316,330 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.0% และรายจ่ายลงทุนจำนวน 274,525 ล้านบาท หรือ 45.3% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลงจำนวน 606,670 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.7% ทั้งนี้รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 429,681 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 285,296 ล้านบาท
"ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ฐานะการคลังของรัฐบาลยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง ส่งผลให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง" นายกฤษฎา กล่าว
ในขณะที่ฐานะการคลังของเดือนมิถุนายน 2560 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง จำนวน 324,526 ล้านบาท เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยรายได้นำส่งคลังต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 15,986 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการนำส่งเงินค่าธรรมเนียมทีวีดิจิตอลในปีก่อน ซึ่งไม่มีการนำส่งเงินดังกล่าวในปีนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 224,849 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 39,909 ล้านบาท (คิดเป็น 15.1%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 212,626 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 15.2% ประกอบด้วยรายจ่ายประจำจำนวน 181,788 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 14.0% และรายจ่ายลงทุน 30,838 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 21.7% โดยมีสาเหตุหลักมาจากเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นงวดเดือนกรกฎาคมที่ปีก่อนได้มีการเร่งมาเบิกจ่ายในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 12,223 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 12.6%
การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง จำนวน 44,958 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 7,919 ล้านบาท และเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 5,662 ล้านบาท
ส่วนดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมิถุนายน 2560 เกินดุลจำนวน 99,677 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน 71,322 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังสุทธิ จำนวน 60,000 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ชดเชยการขาดดุลเกินดุลจำนวน 28,355 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 25,300 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุลเท่ากับจำนวน 53,655 ล้านบาท