นายกฯติงการเมืองมีส่วนทำศก.อ่อนแรง เรียกร้องภาคเอกชนร่วมกันลงทุนให้เงินหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday July 29, 2017 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวผ่านรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"ถึงเรื่องเศรษฐกิจ" ว่า วันนี้ผมอยากพูดถึงเรื่องที่มีความสำคัญกับพวกเราทุกคน และที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด คือ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ผมอยากเรียนให้ทราบว่า จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา เห็นได้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมค่อย ๆ ดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจก็ค่อย ๆ ดีชัดเจนมากขึ้น ล่าสุด การค้าขายระหว่างประเทศของไทยปรับดีขึ้นเทียบกับในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาทั้งการส่งออกที่เริ่มเห็นว่า ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯและถือเป็นการเติบโตจากปีก่อนถึงร้อยละ 7.91 ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็สูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน เทียบกับปีก่อน เติบโตได้เกือบถึงร้อยละ 10ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคสินค้าและบริการในประเทศ หรือการนำเข้าสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น

"ผมอยากให้เราเข้าใจร่วมกันว่าต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจคืออะไรบ้างเพื่อที่เราจะได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ผมมองว่า ส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจยังขยายตัว แต่ไม่ทั่วถึงนี้ เราคงต้องย้อนกลับไปว่า ปัจจัยสำคัญปัจจัยแรก ก็คือเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจาก“วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์"ได้อย่างช้า ๆเรายังเห็นว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศยังอ่อนแอ ซึ่งส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าและบริการยังน้อยอยู่การส่งออกของไทยก็เลยฟื้นตัวได้แบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่วันนี้ แม้จะดีขึ้น แต่ก็เนื่องจากอ่อนแอมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ราคาสินค้าเกษตร รวมไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน หรือทอง ลดลงมาในระดับต่ำต่อเนื่องหลายปีส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรหลาย ๆ ประเภทในบ้านเราและรายได้ของพี่น้องเกษตรกรไม่สามารถกระเตื้องขึ้นได้เท่าที่ควร เรื่องเศรษฐกิจโลกก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่อีกด้านหนึ่งของปัญหาคือโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยนั้นเอง ที่ไม่เข้มแข็ง ที่ยังไม่ได้รับมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นพลวัตเท่าที่ควร ศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันก็ยังคงต้องเร่งพัฒนาให้ทันสมัยด้วยให้ทันต่อสถานการณ์ด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐบาลนี้ ต้องการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปในหลาย ๆ ด้านรวมทั้งให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทุกระบบ เพื่อจะสร้างความเข้มแข็ง รองรับการพัฒนาในอนาคตและแก้ปัญหาประเทศ แบบองค์รวมให้ได้ในระยะยาว เราต้องทำพร้อม ๆ กัน ทั้งการผลิต การแปรรูป การจำหน่าย ให้เข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ได้ด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการทั้งในระยะสั้น และระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่มาจากทั้งภายในและภายนอก โดยในช่วงที่การจับจ่ายใช้สอยของพี่น้องประชาชน ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ภาครัฐก็ต้องเร่งเสริมการใช้จ่าย เพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปสู่เศรษฐกิจลงไปสู่ฐานรากให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการเร่งเดินหน้าเพื่อใช้จ่ายงบประมาณให้ทันตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งด้านรายจ่ายประจำ และรายจ่ายเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การใช้จ่ายเหล่านี้ ถือเป็นภาระและเป็นหน้าที่สำคัญของภาครัฐด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ของภาครัฐนั้น มีการวางแผนไปข้างหน้า มีการดูรายรับ เทียบกับรายจ่าย และความต้องการของเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยถ้าเศรษฐกิจดี รัฐก็ไม่ต้องลงไปใช้จ่ายมากให้เอกชนเป็นผู้นำและก็ใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่แต่ในวันที่เศรษฐกิจอ่อนแรง เอกชนยังไม่มั่นใจ ซึ่งการเมืองก็มีส่วนตรงนี้ด้วย อาจจะมีการบิดเบือนบ้างอะไรบ้าง ให้ร้ายการทำงานของรัฐบาลทุกอย่างมันช้าไป

รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีหน้าที่เข้าไปเสริมและเมื่อมองภาพภาระของภาครัฐในช่วงนี้ไปจนถึงระยะข้างหน้าอีกหลายปี พบว่าหนี้สาธารณะของประเทศก็ยังไม่เกินร้อยละ 60 ที่เป็นเกณฑ์สากลผมยืนยันว่า เราให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก และกำชับให้ทุกฝ่ายดำเนินการด้วยความระมัดระวัง อย่างที่สุด ผมขอยกตัวอย่างโครงการที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ ทั้งเพื่อสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการสนับสนุนรายได้ในระยะสั้น และการเร่งดำเนินการเพื่อวางรากฐาน ปรับฐานการผลิต สร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับประเทศ ซึ่งได้แก่ มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำแบบครบวงจร ซึ่งผมได้เรียนให้ทราบแล้วข้างต้น โดยเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ตั้งแต่การวางแผน การผลิตและการตลาด เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรแปลงใหญ่ และความร่วมมือในโครงการประชารัฐต่าง ๆ นอกจากนี้ เรายังเห็นการเร่งรัดโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการคมนาคมซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรีเพิ่งอนุมัติการดำเนินงานของรถไฟสายสีม่วงส่วนใต้ เพื่อเชื่อมต่อกับสายสีม่วงเดิม หรือการเร่งรัดการวางรากฐานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)ทั้งในเรื่องการสนับสนุนการศึกษา และปรับปรุงกฎระเบียบ เพื่อดึงการลงทุนที่จะสร้างอาชีพให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย การดำเนินงานในด้านมาตรการของภาครัฐนี้ ผมได้สั่งการให้ทุกกระทรวง ไม่ใช่เพียงกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ฯ แต่ยังมีงานด้านอื่น ๆ ของทุกกระทรวง ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในลักษณะการบูรณาการ สร้างความเชื่อมโยง สร้างห่วงโซ่ทุกกิจกรรมให้ถึงประชาชนและท้องถิ่นให้ได้ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนและประเทศในภาพรวม ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่ชัดเจนสำหรับโครงการต่าง ๆ ที่ให้ไว้ จะต้องดำเนินการให้ได้โดยเร็ว มีการปฏิบัติงานลงไปสู่ภาคจังหวัด พื้นที่ ชุมชน โดยกระทรวงต่าง ๆ ต้องทั้งทำงานในส่วนงานฟังก์ชั่น และงานบูรณาการกับกระทรวงหรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ให้เกิดผลที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรมซึ่งผมจะประเมินการทำงานของทุกกระทรวงต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดด้วย

ในส่วนของภาคเอกชน รัฐได้เข้าไปช่วยสนับสนุนหรือยกระดับ กระตุ้นในเรื่องของการลงทุนให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยในห้วงครึ่งแรกของปีนี้ มกราคม ถึง มิถุนายน 2560มีโครงการลงทุนจากเอกชน ที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จำนวน 612 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 290,000 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 46 ของโครงการที่ขอจะลงทุน อยู่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน โดยเฉพาะกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่“ประเทศไทย 4.0"และหากแยกมิติพื้นที่ พบว่าร้อยละ 25 ของโครงการที่ขอ ก็จะอยู่ในพื้นที่EECชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ในห้วงเวลาดังกล่าว คณะกรรมการBOIซึ่งผมเป็นประธาน ได้อนุมัติโครงการลงทุนไปแล้วกว่า 590 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 340,000 ล้านบาท ในกิจการดิจิทัล เกษตรแปรรูป ผลิตพลังงานไฟฟ้า กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือบรรทุกสินค้า เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเพิ่มการจ้างงานให้คนไทยกว่า 33,000 ตำแหน่งงาน และล้วนเป็นโครงการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้วในครึ่งแรกของปี 2560 นั้น จะส่งผลให้มีการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะมีการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอีก 21,600 ตันต่อปี และใช้ยางพาราเพิ่มอีกกว่า 900,000 ตันต่อปีด้วย

"ผมขอเรียกร้องให้ภาคเอกชนร่วมกันลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศ ยิ่งท่านลงทุนเร็วเท่าไหร่ เงินก็จะหมุนเวียนในระบบเร็วขึ้น พี่น้องประชาชนคนไทยและภาคเอกชนรายเล็ก ๆ จะได้รับอานิสงค์จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นด้วย รัฐบาลมีหน้าที่สร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดี ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุด"

อย่างที่ผมเรียนไปแล้วว่า ภาครัฐ นอกจากจะมีหน้าที่เข้าไปเสริมเม็ดเงินเพื่อช่วยสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการใช้จ่าย การลงทุน ของภาคเอกชน และประชาชนในทุกกลุ่มด้วย ซึ่งภายใต้คณะกรรมการ ปยป. ในส่วนของการปฏิรูป จะเร่งรัดดำเนินการพิจารณากฎระเบียบ หรือกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคของการทำธุรกิจ การลงทุน หรือการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนเพื่อปรับปรุงให้สมเหตุสมผลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยย่นระยะเวลาและต้นทุนของภาคธุรกิจและของพี่น้องประชาชนได้ ซึ่งผมมองว่า การปฏิรูปกฎระเบียบ หรือกฎหมายนี้ ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปด้านอื่น ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีผลสัมฤทธิ์ด้วย ถ้าทำไม่ได้ ก็ยากที่จะปฏิรูปด้านอื่น ๆในส่วนของเกณฑ์สากลที่เราต้องปฏิบัติตาม เช่นICAOและIUUเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้เราได้มาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน รัฐบาลจะเดินหน้าดำเนินการอย่างเหมาะสมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนต่อไป สิ่งเหล่านี้ ที่ผ่านมาไม่ค่อยให้ความสำคัญกันมากนัก

นอกจากนี้ การทำงานของภาครัฐเอง หรือกระทรวงต่าง ๆ ก็ต้องมุ่งไปในเชิงรุกมากขึ้นรัฐบาลนี้เหลือเวลาอีกไม่นานนักในการปฏิบัติงาน ตามRoad Mapผมอยากให้เราได้วางรากฐาน วางแนวคิด แนวปฏิบัติ สร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องไปได้ในระยะยาวหลาย ๆ รัฐบาล เราจะมุ่งสร้างการรับรู้กับพี่น้องประชาชนให้มากยิ่งขึ้นในช่องทางต่าง ๆจะมีการคุยกันใกล้ชิดให้มากยิ่งขึ้น หารือกัน อธิบายต่อกัน ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้เพราะเหตุใด มีปัญหาหรือที่ยังทำไม่ได้นั้นเป็นเพราะสาเหตุใด ซึ่งแผนงานของรัฐบาลและ คสช. จนถึงวันที่ 31 กันยายน 2561 ในด้านนี้ มีทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรการตรวจเยี่ยม พบปะ ประชาชนในภาคกลุ่มจังหวัด จังหวัด ชุมชน ท้องถิ่น ในพื้นที่ เพื่อไถ่ถาม หารือ ถึงสิ่งที่ต้องการ สำหรับจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่โดยตรงเพื่อแก้ไขปัญหา หรือสร้างงานต่าง ๆ ให้เกิดผลโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ