นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จนทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก อุทกภัยแบบฉับพลัน รวมถึงดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตรวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่มีความเสียหายและได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในส่วนของราชการและประชาชน โดยจากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด กระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า ภาคอุตสาหกรรมก็เป็นภาคส่วนหนึ่งที่กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นสถานประกอบการของผู้ประกอบการ SMEs โรงงานอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนหน่วยงานและศูนย์บริการที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากการประเมินความเสียเบื้องต้นทราบว่า ในจังหวัดสกลนครถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด โดยมีสถานประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรมของ SMEs ได้รับผลกระทบถึง 80-100 โรงงาน จากจำนวนโรงงานจำพวก 2 และ 3 รวมกว่า 600 โรงงาน อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังความเสียหายอีก 4 จังหวัด คือ นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
อย่างไรก็ดี กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น ดังต่อไปนี้ มาตรการเร่งด่วนได้แก่ 1.กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้กับโรงงานอุตสาหกรรม 3-5 ปี สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1 หมื่นบาทต่อราย ค่าการตรวจติดตามทั้งร้านจำหน่ายและผุ้ทำในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2.ลูกค้าสินเชื่อโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมให้มีการพักชำระหนี้ 4 เดือน ปลอดหนี้ไม่เกิน 4 เดือน โดยลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 1% ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และวิสาหกิจชุมชน ให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับนำไปพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
3. การฟื้นฟูสถานประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายและบริษัทเอกชนใหญ่ในพื้นที่ จะเข้าร่วมทำความสะอาด ตรวจเช็คเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า และซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ภายหลังน้ำลด 4. สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและพื้นที่เฝ้าระวังเพื่อให้คำแนะนำและแจกคู่มือการป้องกันเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 5. มอบหมายศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจภายในศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SSRC) ที่อยู่ภายในสำนักงานจังหวัดเพื่อประสานงานช่วยเหลือสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับมาตรการระยะกลาง จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ 1 ส.ค.เพื่อนำขออนุมัตินำสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาในปีที่แล้ว วงเงิน 5 พันล้านบาท และยังเหลือวงเงินอีกประมาณ 2 พันล้านบาท มาช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบอุทกภัยทั้งหมดของประเทศ โดยยังคงเงื่อนได้ผ่อนปรนระยะเวลาชำระหนี้เพิ่มเติมในการฟื้นฟูกิจการรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ (3%) ผ่อนชำระยาวถึง 7 ปี