นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิ.ย.60 อยู่ที่ 111.76 หดตัว 0.16% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ MPI ไตรมาส 2 หดตัว 0.06%
อัตราการใช้กำลังผลิต มิ.ย.60 อยู่ที่ 61.05 เพิ่มขึ้นจาก 60.73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"MPI มิ.ย.ที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาจากผลกระทบจากอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนที่ลดกำลังการผลิตลงถึง 27.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปเนื่องจากปีนี้มีฤดูร้อนที่สั้นกว่าปีก่อนๆ"
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมโดยรวมดีขึ้นส่งผลให้ภาพรวมครึ่งปีแรกของปี 60 MPI ขยายตัว 0.15% ในขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) เดือนมิถุนายนขยายตัว 14.84% และในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวที่ 13.2% แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเป็นผลจากนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมของภาครัฐเริ่มเห็นผล โดยเฉพาะอุตสาหกรรม Hard disk drive ที่ได้เร่งการผลิตถึง 22.30% จากเดือนก่อนเพื่อรองรับนโยบายการทำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของรัฐบาล
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.81% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดโลกในกลุ่ม Memory, Fabrication facilities equipment และ wafer manufacturing
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.32% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้ผลิตเครื่องยนต์รุ่นใหม่ จนได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งในประเทศ (เพิ่มขึ้น 5.97%) และต่างประเทศ (การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น16.65%) และจากเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ที่ยังเป็นที่นิยมของลูกค้า
น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.22% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนเนื่องจากในปีก่อนโรงกลั่นได้หยุดซ่อมบำรุงทั้งโรงกลั่นระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน เป็นเวลา 2 เดือน โดยประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเครื่องบิน
อาหารทะเลแปรรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.27% จากผลิตภัณฑ์กุ้งแช่แข็ง เนื่องจากวัตถุดิบกุ้งได้รับการแก้ไขปัญหาโรคตายด่วนได้ดีขึ้น จึงมีวัตถุดิบกุ้งมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็ง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ปลาหมึกแช่แข็ง มีวัตถุดิบเพื่อส่งออกสู่ตลาดมากขึ้น
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3/60 ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดการณ์ว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 500,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.44%,
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดการณ์ว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ เครื่องซักผ้า เครื่องอุปกรณ์ป้องกันวงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการ IC ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น,
อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน คาดการณ์ว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้า,
อุตสาหกรรมอาหาร คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตกลุ่มปศุสัตว์ตามความต้องการบริโภคสินค้าไก่แปรรูปและไก่สดแช่เย็นเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ การผลิตกลุ่มผักผลไม้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น การผลิตสินค้าน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการขยายพื้นที่ปลูกตามระดับราคาน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น