บล.กสิกรไทย คาดลงทุนภาคเอกชนกลับมาในอีก 3-4 ไตรมาสหลัง กม.EEC มีผลบังคับใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 31, 2017 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า ยังมีมุมมองที่เป็นบวกกับการลงทุนภาครัฐ และเชื่อว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะทำให้รัฐบาลเร่งการประมูลและเบิกจ่ายโครงการลงทุนมากขึ้น ส่วนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนจะยังเป็นไปอย่างช้าๆ

ปัจจัยสำคัญคือต้องเห็นกฎหมายที่มารองรับเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ออกมาบังคับใช้ น่าจะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศเริ่มกลับมาก และเชื่อว่าจะส่งผลให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนภาคเอกชนตามมาเป็นลำดับ ซึ่งจากการศึกษาของ บล. กสิกรไทย พบว่า เมื่อ FDI กลับมา จะเห็นการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนตามมาภายใน 3-4 ไตรมาส

สำหรับปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อในปีนี้ ด้วยราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลง บล.กสิกรไทย เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ที่เพียง 0.7-0.8% ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่ากรอบล่างของ 1-4% เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และด้วยเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ บวกกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึง อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะถูกเก็บไว้ที่ระดับปัจจุบันที่ 1.5% ไปจนถึงกลางปี 61 โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3.4-3.5% และปี 61 จะอยู่ที่ระดับ 3.6-3.7%

บล.กสิกรไทย มองว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีการฟื้นตัวของส่งออกไทยน่าจะเริ่มชะลอตัวลง เนื่องจาก 1) สัญญาณการชะลอตัวของสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาตลอดในช่วงครึ่งปีแรก 2) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มชะลอตัวลงทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ 3) ปัจจัยสนับสนุนเรื่องฐานต่ำจะเริ่มหายไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม เป็นต้นไป

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนที่ทยอยประกาศในช่วงที่ผ่านมายังส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อนข้างกระจุกตัว ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เติบโตได้ 11% ได้แรงหนุนหลักจากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และตะวันออกกลาง สำหรับตัวเลขส่งออกที่โตขึ้น 11.7% ส่งสัญญาณที่ดี คือ มีมูลค่าการส่งออกแตะระดับ 2 หมื่นล้านดอลล่าห์สหรัฐ แต่การฟื้นตัวยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มยางพาราและฮาร์ดดิสก์ (HDD) ในขณะที่การส่งออกยานยนต์ และสินค้าแผนวงจรรวม (IC) เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว

ด้านอุปสงค์ในประเทศยังได้รับปัจจัยกดดันจากรายได้นอกภาคเกษตรที่ไม่โตมาตั้งแต่ต้นปี (-1%ในช่วง 5 เดือนแรก) รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง (อัตราการเติบโต 6% เมื่อเทียบกับ 19% ในช่วง 5 เดือนแรก) โดยจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักคือ ข้าวและยางพาราในตลาดโลก น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้รายได้เกษตรกรในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ