นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบในหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ซึ่งเป็นการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด เข้าด้วยกันเป็นสัญญาฉบับใหม่
สำหรับสัญญาดังกล่าวจะเป็นลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว แบบ Non-Firm โดยมีอายุสัญญาถึง 31 ธ.ค.67 ทั้งนี้ ให้ กฟผ. ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯ ดังกล่าว ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯ ได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
พร้อมเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปประเทศมาเลเซีย ผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย (LTM-PIP) โดยมีเป้าหมายให้มีการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซีย ผ่านระบบส่งของไทย ในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 2 ปี นับจาก 1 ม.ค.61 ซึ่งเป็นการดำเนินภายใต้โครงการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (LTMS-PIP) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศสมาชิกอาเซียนตามแผน ASEN POWER GRID (APG) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ให้นำเสนอ ครม. ตามลำดับต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุม กพช. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบให้สถานีอัดประจุไฟฟ้าใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามประกาศเรื่องอัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก เพื่อรองรับการใช้งานรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า (โครงการนำร่อง) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (เทียบเท่าอัตราค่าไฟของกิจการขนาดกลาง) เป็นการชั่วคราวไปก่อน จนกว่าจะมีอัตราค่าไฟฟ้าถาวรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย อำนวยความสะดวกแก่เจ้าของสถานีอัดประจุในการขออนุญาตต่าง ๆ
สำหรับสถานการณ์พลังงาน 6 เดือนแรกของปี 60 และแนวโน้มปี 60 ที่ประชุม กพช. ได้รับทราบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้น ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนรวม โดยมีการใช้พลังงานทดแทนทุกประเภทเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 31.9 ตามนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ สำหรับการจัดหาพลังงานขั้นต้น พบว่า การผลิตพลังงานจากแหล่งในประเทศลดลงร้อยละ 4.8 ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ1.8 หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของการใช้พลังงานขั้นต้น
ส่วนแนวโน้มปี 60 นั้น คาดว่า ความต้องการพลังงานขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว ในทุกประเภทยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะลดลงตามการใช้ไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้าที่ลดลงในช่วง 6 เดือนแรก โดยในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยอยู่ในช่วง 47-57 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับการใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะอยู่ที่ 186,484 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพการใช้พลังงานรวมของประเทศ (Energy Intensity) คาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้พลังงานของประเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น