นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนและฮ่องกงได้เริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - ฮ่องกง มาตั้งแต่ปี 2557 มีการเจรจาทั้งสิ้น 10 รอบ โดยรอบที่ 10 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจาทางการค้าสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (ASEAN-Hong Kong FTA TNC : AHKFTA TNC) ระหว่างวันที่ 30-31 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น อาเซียนและฮ่องกงได้ข้อสรุปการเจรจาในทุกประเด็นและดำเนินการขัดเกลาภาษาทางกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว
"ได้กำหนดให้มีการประกาศความสำเร็จในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ฮ่องกง (AEM – Hong Kong, China Consultations) ครั้งที่ 2 ในเดือนก.ย.60 และจะให้มีการลงนามในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 31 ในเดือนพ.ย.นี้ ที่ประเทศฟิลิปปินส์" นายรณรงค์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ฮ่องกง จะเป็นความตกลงฉบับที่ 6 ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่ค้า หลังจากการลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2552 สำหรับการจัดทำ FTA ระหว่างอาเซียนกับฮ่องกงจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยอาเซียนสามารถใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นประตูสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน เนื่องจากฮ่องกงมีความตกลงการค้าเสรี (Closer Economic Partnership Arrangement : CEPA) กับจีน โดยสินค้าจำนวน 1,819 รายการจากฮ่องกงสามารถส่งออกไปยังจีนในอัตราภาษี 0%
อีกทั้งยังเป็นโอกาสการยกมาตรฐานภาคบริการโดยผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกง โดยเฉพาะด้านการเงิน โลจิสติกส์ และการให้บริการทางกฎหมาย การเข้าสู่แหล่งทุนในฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงมีศักยภาพในการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงอาเซียน (ASEAN Connectivity)
ขณะที่ฮ่องกงเองจะได้ประโยชน์ด้านภาษีสินค้าที่ส่งออกมายังอาเซียนในอัตราต่ำลง ในขณะที่อาเซียนจะได้ประโยชน์ในด้านต้นทุนและราคาสินค้าในส่วนที่นำเข้าจากฮ่องกงที่ลดลง รวมทั้งการที่ฮ่องกงมีข้อตกลงในการผูกพันภาษีสินค้าทุกรายการภายใต้ AHKFTA ที่ 0% (ปัจจุบันฮ่องกงไม่ได้ผูกพันสินค้าทุกรายการใน WTO ที่ 0% ซึ่งอาจมีการปรับขึ้นภาษีได้) นอกจากนี้ ฮ่องกงยังให้เงินสนับสนุนจำนวน 25 ล้านเหรียญฮ่องกง สำหรับโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และวิชาการภายใต้ AHKFTA ในระยะเวลา 5 ปี หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้าโลจิสติกส์ และ E-Commerce เป็นต้น
สำหรับการค้า ในปี 2559 ฮ่องกงเป็นคู่ค้าอันดับ 9 ของไทย และเป็นประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ในปี 2559 การค้ารวมระหว่างไทยกับฮ่องกงมีมูลค่า 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว ผลไม้สด สินค้านำเข้าจากฮ่องกง ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ และผ้าผืน
ด้านการลงทุน ในปี 2559 ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เป็นอันดับที่ 7 จำนวน 32 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 8.6 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 68.9% ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวฮ่องกงเดินทางมาไทย 7.5 แสนคน และนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปฮ่องกง 5.9 แสนคน ด้านแรงงาน ในปี 2559 มีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในฮ่องกงประมาณ 2,000 คน ส่วนมากประกอบอาชีพผู้ช่วยแม่บ้าน พนักงานบริการ และผู้ประกอบอาหาร