ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.0% โดยราคาอาหารสดจะกลับมาขยายตัว ประกอบกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ยอยู่ที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงไปที่ 35.00 - 35.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2560 ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับสูงขึ้นได้ในระยะต่อไป
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ยังมีแนวโน้มทรงตัวตลอดทั้งปีนี้ อยู่ที่ราว 0.6% จากในช่วง 7 เดือนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 0.55% โดยผู้ประกอบจะยังไม่ปรับราคาสินค้าขึ้นมากนัก เนื่องจากการบริโภคในประเทศยังไม่แข็งแกร่ง เพราะถูกกดดันจากภาวะการจ้างงานที่ซบเซาและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.ค.60 กลับมาเป็นบวกที่ 0.17% จากที่ลดลง 0.05% ในเดือนมิ.ย.60 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 0.48% จาก 0.45% ในเดือนมิ.ย.60 ซึ่งเงินเฟ้อทั่วไปที่กลับมาเป็นบวกในเดือนก.ค.นี้ มีปัจจัยหลักมาจากราคาอาหารสดที่หดตัวน้อยลง เนื่องจากผลกระทบของฐานสูงจากภัยแล้งในปีก่อนคลี่คลายลง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานค่อนข้างทรงตัว โดยราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก เช่น ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าโดยสารสาธารณะ การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ขณะที่ยังมีบางหมวดที่ราคาลดลง เช่น เครื่องนุ่งห่ม สะท้อนว่าการบริโภคในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้า