"อนันตพร"คาดแผน PDP2015 ฉบับใหม่แล้วเสร็จปลายปี,เจรจาซื้อไฟฟ้าจาก 2 โครงการในเขมร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 2, 2017 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า การปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2558-2579 (PDP2015) ฉบับใหม่จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่ถึงระดับ 70,335 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วงปลายแผนปี 79 ตามแผนฉบับเดิม หลังจากความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลงจากนโยบายส่งเสริมการประหยัดพลังงาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการใช้พลังงานทดแทนที่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นทั้งจากที่เข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้าหลักและการผลิตไฟฟ้าใช้เองของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ในด้านสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้าน่าจะยังอยู่ในระดับเดิมในช่วงปลายแผน โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับ 40%, ถ่านหิน 20-25% ส่วนพลังงานทดแทน ที่เดิมมีสัดส่วนอยู่ 20% จะสามารถเพิ่มเป็นระดับ 40% ได้ตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการหรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องราคาค่าไฟฟ้า ขณะที่ยังคงแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ในสัดส่วน 0-5% และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 20%

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพา ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ซึ่งต้องดูแผนปฏิบัติการในอนาคตก่อน แต่ถึงแม้ไม่เกิดขึ้นก็อาจทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลง แต่ก็ไม่กระทบต่อสัดส่วนการใช้ถ่านหิน เพราะภาพรวมของกำลังการผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะลดลงในช่วงปลายแผนดังกล่าว

“ปัจจุบันพบว่าหลายประเทศยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในทวีปยุโรปที่มีสัดส่วนการใช้ถ่านหินสูงถึง 25-50% และการใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกมีสัดส่วนสูงถึง 40% รวมทั้งในบางประเทศที่มีแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ยังใช้ถ่านหินเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศด้วย ดังนั้น การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเหมือนในอดีต เพราะทุกอย่างสามารถควบคุมได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย"พล.อ.อนันตพร กล่าว

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า ส่วนแผนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาซื้อไฟฟ้าจากโครงการเกาะกง ในกัมพูชา จำนวน 2 โครงการ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่ยังไม่มีข้อสรุปขึ้นอยู่กับอัตราค่าไฟฟ้า รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ซึ่งจะรับซื้อไฟฟ้า จำนวน 24 เมกะวัตต์ เบื้องต้นโครงการนี้เสนออัตราค่าไฟฟ้ามาค่อนข้างสูงที่ 10.75 บาท/หน่วย เพราะเป็นมูลค่าไฟฟ้าบวกด้วยมูลค่าน้ำ เนื่องจากประเทศไทยต้องการผันน้ำจากสตึงมนัมเพื่อนำมาใช้รองรับในโครงการเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยโครงการสตึงมนัม คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ