กบง.มีมติคงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ส.ค.ที่ 20.49 บ./กก. แม้ราคาตลาดโลกปรับขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 2, 2017 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อ้างอิงสำหรับเดือน ส.ค.60 คงที่ระดับ 20.49 บาท/กิโลกรัม (กก.) เท่ากับเดือนที่แล้ว แม้ว่าราคา LPG ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยการประกาศราคาอ้างอิงในระดับคงที่ดังกล่าว เนื่องจากใช้กลไกจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของ LPG เข้าไปอุดหนุนในระดับ 2.75 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วที่อุดหนุนระดับ 12 สตางค์/กก.

“กบง. ยืนยันที่จะเดินหน้าตามนโยบายเปิดเสรี LPG แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องส่งสัญญาณใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยดูแล ทำให้ราคาอ้างอิงของ LPG เดือนนี้ จะเทียบเคียงเท่ากับเมื่อเดือนที่แล้วที่ 20.49 บาท/กิโลกรัม ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นราคาตลาดโลกที่ผันผวนปรับเพิ่มขึ้น 85 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงสุดในช่วงหน้าร้อนเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี”นายทวารัฐ กล่าว

ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก (CP) เดือน ส.ค.60 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 85 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 440 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือน ก.ค.60 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.2509 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 33.9146 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6352 บาท/กก. จาก 13.6229 บาท/กก.เป็น 16.2581 บาท/กก.

ดังนั้น เพื่อไม่ให้การผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก และแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG สามารถดำเนินต่อเนื่องโดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศ ประกอบกับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของก๊าซ LPG ยังคงมีเสถียรภาพ ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้ใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อส่งสัญญาณให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในเดือนสิงหาคมนี้อยู่ในระดับคงที่ โดยให้ปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ 2.6352 บาท/กก. จากเดิมที่กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 0.1207 บาท/กก. เป็นชดเชย 2.7559 บาท/กก. ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายจ่ายสุทธิอยู่ที่ 511 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วที่มีรายจ่าย 40 ล้านบาท/เดือน

สำหรับฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 ก.ค.60 อยู่ที่ 39,403 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีในส่วนของก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,367 ล้านบาท และบัญชีในส่วนของน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,036 ล้านบาท

นายทวารัฐ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของราคาอ้างอิง LPG จะประกาศเดือนต่อเดือน อย่างไรก็ตามโดยกลไกเสรีการควบคุมราคาภาครัฐไม่มีแล้ว และภาวะกลไกการแข่งขันซึ่งผู้ค้าจะต้องพิจารณา ซึ่งในช่วงนี้คาดว่าผู้ค้า LPG หลายรายอยู่ระหว่างปรับตัวเข้าสู่การแข่งขันที่เสรีมากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ค้าน่าจะยังไม่ขยับราคาขายปลีก LPG ขึ้นแน่นอน เพราะอย่างน้อยน่าจะยังคงมีสต็อกสินค้าในมือจำนวนหนึ่งอยู่ ทำให้ยังสามารถขายได้ในราคาเดิม

สำหรับราคา LPG ตามสถิติช่วงนี้เป็นช่วงหน้าร้อน จะเป็นช่วงขาลงของราคา LPG แต่การที่ราคาผันผวนขึ้นมาตามราคาน้ำมัน ที่ปรับขึ้นจากการลดการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) การลดการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของซาอุดิอาระเบีย การคว่ำบาตรอิหร่าน รัสเซีย ทำให้เกิดภาวะผันผวนได้ ขณะที่ในเดือน ต.ค.-พ.ย.เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งก็จะยังมีความผันผวนด้านราคาเพิ่มขึ้น ส่วนแนวโน้มในเดือน ก.ย.หากราคา LPG ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก ก็จะต้องแจ้งต่อที่ประชม กบง.ว่าจะมีการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปดูแลหรือไม่

นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า กองทุนน้ำมันฯในส่วนของ LPG จะยังคงจัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของ LPG สำหรับโรงแยกก๊าซธรมชาติอยู่ต่อไป แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีธุรกิจ LPG แล้วก็ตาม เนื่องจากโครงสร้างต้นทุนการจัดหา LPG มาจากหลายแหล่งที่แตกต่างกัน ทั้งจากโรงแยกก๊าซฯ โรงกลั่นน้ำมัน และการนำเข้า ขณะที่โรงแยกก๊าซฯมีต้นทุนการผลิต LPG ที่ถูกสุดเพราะใช้ก๊าซฯจากอ่าวไทย โดยหากราคา LPG ยังเกินกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ก็จะยังจัดเก็บเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของ LPG จากโรงแยกก๊าซฯ อยู่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ