นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ถึงปัญหาความแออัดในของท่าเรือกรุงเทพว่า เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าสูงถึง 1.5 ล้านที.อี.ยู./ปี ซึ่งเกินขีดความสามารถรองรับที่ 1 ล้านที.อี.ยู./ปี ทำให้เกิดความไม่สะดวก และมีการเรียกเก็บค่าบริการสูงขึ้น
ทั้งนี้ กทท.ระบุว่า มีแผนพัฒนาปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพในระยะ 5 ปี วงเงินลงทุน 7,500 ล้านบาท คือ 1. ปรับปรุงท่าเรือและคลังสินค้านำเข้าและส่งออก วงเงิน 4,971 ล้านบาท 2. ปรับปรุงบริการ One Stop Service วงเงินลงทุน 2,500 ล้านบาท และการลงทุนระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศในการเชื่อมต่อบูรณาการข้อมูลภาครัฐและเอกชน หรือ Port Community System (PCS) ซึ่งจะทำให้ยกระดับการให้บริการท่าเรือกรุงเทพเป็นมาตรฐานโลก ซึ่ง กทท.จะเริ่มศึกษาในปี 61
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเสนอให้รัฐบริหารจัดการท่าเรือร้างจำนวนมากที่กรมเจ้าท่าเป็นผู้ก่อสร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่ติดปัญหาไม่มีผู้เข้าไปบริหารจัดการ เนื่องจากกรมธนารักษ์คิดอัตราค่าเช่าแพง ดังนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเพื่อเร่งหาข้อสรุปเสนอไปยังกรมธนารักษ์โดยเร็ว หลักการอาจต้องเสนอให้ปรับลดหลักเกณฑ์ วิธีคิดค่าเช่าของกรมธนารักษ์
ปัจจุบัน กทท.มีสินทรัพย์มูลค่า 5 หมื่นล้านบาทแต่พัฒนาสร้างผลตอบแทนได้เพียง 700 ล้านบาท/ปี หรือเพียง 1% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งได้มอบนโยบายไปแล้วว่า กทท.ควรเพิ่มผลตอบแทนจากการพัฒนาที่ดินเป็น 4-5 % ซึ่งจากแผนการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้ กทท.สามารถนำพื้นที่ว่างอีก 281.32 ไร่ มูลค่าขั้นต่ำหมื่นล้านบาท มาพัฒนาเชิงพาณิชย์