สภาหอการค้า เตือนนายจ้างเร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวใกล้หมดเขต 7 ส.ค.หลังพบยอดยังต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 3, 2017 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุผลการร่วมสังเกตการณ์ภายหลังมีการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อให้ผู้ที่ใช้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ที่ผิดกฎหมายทั่วประเทศมายื่นแสดงความจำนงหลักจาก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ายังมีผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปมายื่นความจำนงในการใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริง

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน สภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ขณะนี้จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการผลักดันให้ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าว เช่น แม่บ้าน, ลูกจ้างตามร้านค้าแผงลอย มาแสดงเจตจำนงในการขอใช้แรงงานต่างด้าวตามที่ระยะเวลากฎหมายกำหนด

"ขอเตือนนายจ้างหรือใครก็ตามที่ใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย หรือมีเอกสารอนุญาตทำงานที่ยังไม่ถูกต้อง ให้รีบมาทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ส.ค. ถ้าใครไม่มาขึ้นทะเบียน เชื่อว่ารัฐบาลคงต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด" นายพจน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงานมีความตั้งใจที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทยอย่างบูรณาการ และพัฒนาแรงงานของประเทศไทยในทุกรูปแบบ ซึ่งคาดหวังว่าในปี 61 รายงานประจำปีของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) จะดีขึ้นตามลำดับ

นายสมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หลังจากกฎหมายแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ กระทรวงแรงงานได้เปิดศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มี 11 ศูนย์ โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-3 ส.ค. พบว่ามีนายจ้างมายื่นคำขอแล้ว 113,374 ราย โดยมายื่นที่ศูนย์ฯ 104,415 ราย และลงทะเบียนออนไลน์ 8,959 ราย เป็นลูกจ้างต่างด้าว 396,390 คน แยกเป็นกัมพูชา 107,504 คน, ลาว 54,144 คน, เมียนมา 234,742 คน

ทั้งนี้ ประเภทกิจการที่มีการยื่นคำขอสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เกษตรและปศุสัตว์ 91,570 คน รองลงมาคือ กิจการก่อสร้าง 77,917 คน, จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 36,667 คน, การให้บริการต่างๆ 28,983 คน และกิจการต่อเนื่องจากเกษตร 25,268 คน โดยจังหวัดที่มีมาแจ้งมากที่สุด 5 อันดับ คือ กรุงเทพฯ 84,957 คน รองลงมาคือ สมุทรปราการ 22,974 คน,ระยอง 19,821 คน, ปทุมธานี 19,571 คน และเชียงใหม่ 16,325 คน

ดังนั้น ขอให้นายจ้างหรือผู้ใดที่มีการจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่มีเอกสารแสดงตน และเอกสารอนุญาตการทำงานอยู่ในปัจจุบันให้รีบมาดำเนินการตามที่กำหนด และย้ำว่าการดำเนินการในรอบนี้ ไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่เหมือนเช่นกลุ่มบัตรสีชมพูที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายเปิดจดทะเบียนรอบใหม่แต่อย่างใด รวมทั้งจะไม่มีการขยายระยะเวลาออกไปจากวันที่ 7 ส.ค.นี้

"อยากสื่อไปยังนายจ้างทุกกิจการที่มีคนต่างด้าวมาทำงานโดยผิดกฎหมาย หรือที่ยังดำเนินการไม่ถูกต้อง ให้เข้ามาแจ้งสถานะของแรงงานต่างด้าวได้ที่ศูนย์ฯ ซึ่งวันที่ 7 ส.ค.นี้จะเป็นวันสุดท้ายแล้ว เราจะอำนวยความสะดวกให้เร็วและดีที่สุด ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าจะมาวันละ 2 พันคน แต่พบว่ามาจริงๆ แค่วันละ 700-800 คนเท่านั้น" รองอธิบดีกรมการจัดหางานระบุ

นายสมบัติ กล่าวว่า นายจ้างสามารถให้ผู้อื่นยื่นแทนได้ หรือยื่นทางอินเตอร์เน็ต โดยหลักฐานที่ใช้มีเพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนายจ้าง หรือสำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคลกรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล รูปถ่ายลูกจ้างต่างด้าว ขนาด 2 นิ้ว 3 รูป และแบบคำขอจ้างคนต่างด้าว จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนัดวัน เวลา เพื่อให้นายจ้างพาลูกจ้างไปตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง ถ้าพบเป็นนายจ้างลูกจ้างจริง เจ้าหน้าที่จะออกหนังสือรับรองเพื่อไปตรวจสัญชาติแล้วมาขออนุญาตทำงานต่อไป

การตรวจาสัญชาติแต่ละสัญชาติจะมีข้อปฏิบัติดังนี้ สัญชาติกัมพูชา ทางการกัมพูชากำหนดเข้ามาตรวจสัญชาติที่ประเทศไทยที่ จ.ระยอง สงขลา และกรุงเทพฯ ในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะให้บริการในรูปแบบ One Stop Service (OSS) ส่วนสัญชาติเมียนมา ดำเนินการตรวจสัญชาติในประเทศไทย 6 ศูนย์ 5 จังหวัด คือ สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, เชียงราย, ตาก และระนอง ขณะที่สัญชาติลาว แรงงานจะต้องไปสถานทูตลาวหรือกงสุลลาวประจำประเทศไทย เพื่อขอเอกสารกลับไปประเทศลาวเพื่อทำหนังสือเดินทาง และกลับเข้ามาทำงานแบบ MOU


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ