พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงอุปสรรคในการพัฒนาประเทศอย่างหนึ่งโดยระบุว่า แม้ประเทศไทยจะโชคดีเพราะตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็เป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนไทยติดอยู่กับความสุขสบาย (Comfort zone) ไม่กล้าเสี่ยง หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ ๆ เช่น เกษตรกรนิยมปลูกพืชชนิดเดิมซ้ำ ๆ ภาคเอกชนไม่กล้าที่จะลงทุนเพื่ออนาคต โดยมักคำนึงถึงผลกำไรระยะสั้นเพื่อให้อยู่รอดเท่านั้น เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยที่มักมุ่งเน้นผลิตงานวิจัยที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน"
“นายกฯ ต้องการให้มหาวิทยาลัยวิจัยของไทยแสดงตัวออกมาร่วมสร้างชาติด้วยการสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนภาคธุรกิจเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมก็จะต้องลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น และใช้ประโยชน์จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัยไปร่วมคิดและปฏิบัติงาน (Talent mobility) ในองค์กร เพื่อต่อยอดสร้างนวัตกรรม ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้"
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลพยายามอย่างมากที่จะผลักดันให้ประเทศก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการวางกลไกและออกมาตรการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง เช่น การใช้อำนาจตาม ม.44 ปฏิรูประบบวิจัยของประเทศทั้งระบบ ตั้งสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ให้ประสานสอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกัน
นอกจากนี้ ยังออกมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 300 ให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปขอยกเว้นภาษีได้สูงสุด 3 เท่าของที่จ่ายจริง การจัดทำบัญชีนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ไทยให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ โครงการเน็ตประชารัฐที่ช่วยสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้กับชุมชน การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ (Competitiveness Fund) ช่วยสนับสนุนทุนให้ภาคเอกชน กระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เป็นต้น
“นายกฯ ยังมีแนวคิดด้วยว่า การพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากนั้น ทุกภาคส่วนควรใช้โอกาสนี้สร้างการลงทุน โดยเฉพาะด้านการเกษตร อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ คอมพิวเตอร์ ที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง อย่างไรก็ตาม การทำงานของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวอาจไม่ประสบความสำเร็จ จึงขอความร่วมมือจากสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจเอกชนในการปรับวิธีคิด เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน"