รมว.พาณิชย์ สั่งการให้พาณิชย์ภาค 1 เดินหน้าบูมเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลักดันของบประมาณปี 61 ลุย 6 โครงการหลัก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก เน้นการพัฒนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิ GI ผ้าทอ ผ้าคราม ร่วมมือการค้าลงทุนกับเพื่อนบ้าน และส่งเสริมสินค้าเด่นของท้องถิ่น
นางกุลณี อิศดิศัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพาณิชย์ภาค 1 เปิดเผยว่า นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ได้มอบหมายให้ดูแลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำแผนงานและโครงการสำหรับปีงบประมาณ 2561 จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาและส่งเสริมข้าวหอมมะลิอินทรีย์และข้าวหอมมะลิสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สู่สากลครบวงจร , การส่งเสริมและขยายตลาดสินค้าผ้าทออีสาน , การสร้างแบรนด์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการผ้าทอในภาคะวันออกเฉียงเหนือ , การส่งเสริมเส้นทางการค้าผ้าครามย้อมสีธรรมชาติสู่สากล , การจัดประชุม Business Forum ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (หนองคาย นครพนม มุกดาหาร) กับประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กลุ่มประเทศ CLMV และการส่งเสริมตลาดให้เป็นศูนย์สินค้าเด่นของท้องถิ่น
“กระทรวงฯ มั่นใจว่าการดำเนินโครงการทั้ง 6 โครงการดังกล่าว จะช่วยให้เศรษฐกิจในภาคอีสานมีการขับเคลื่อนได้ดีขึ้น เพราะแต่ละสินค้าที่กระทรวงฯ จะเข้าไปส่งเสริมและพัฒนา ล้วนแต่เป็นสินค้าเด่นของชุมชน หากมีการขยายโอกาสทางการตลาดได้ ก็จะเป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าชุมชน และประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น"นางกุลณีกล่าว
นางกุลณีกล่าวว่า ในด้านการพัฒนาและส่งเสริมข้าวหอมมะลิอินทรีย์และข้าวหอมมะลิสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สู่สากลครบวงจร จะเน้นการส่งเสริมให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นผู้นำในการผลิตข้าวคุณภาพสูง โดยเน้นข้าวที่เป็นอินทรีย์ ข้าว GI และมีแผนที่จะพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Organic Young Smart Farmer รวมถึงการเพิ่มช่องทางการทั้งในและต่างประเทศให้กับเกษตรกรที่ผลิตข้าวดังกล่าวให้เพิ่มขึ้น
ส่วนการส่งเสริมผ้าทอ จะส่งเสริมให้พื้นที่ๆ มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางแฟชั่นผ้าทอไทย และผลักดันให้ผ้าทออีสานให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยมีแผนที่จะเข้าไปอบรมผู้ผลิต และนำเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจำหน่ายในระดับนานาชาติในประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้แนวโน้มด้านการตลาด และผลิตสินค้าตรงตามความต้องการได้ และยังมีแผนในการพัฒนาแบรนด์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตผ้าทอ ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าและโอกาสทางการตลาดอีกทางหนึ่ง รวมทั้งมีแผนจะส่งเสริมให้พื้นที่ๆ ผลิตผ้าคราม ยกระดับเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมผ้าครามธรรมชาติและสิ่งทอ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งการค้าและดึงดูดการท่องเที่ยว
สำหรับการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเน้นการจัดการประชุมร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านเวที Business Forum โดยจะเชิญผู้ประกอบการจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ให้เข้ามาเจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย
ทางด้านการส่งเสริมสินค้าเด่นของท้องถิ่น จะเน้นการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยการผลักดันให้เกิดตลาดชุมชน เพื่อให้เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าให้กับชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับการพัฒนาและฝึกทักษะด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการตลาด และทำให้ประชาชนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น