นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นายโซจิ ซาคาอิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น (Japanese Chamber of Commerce:JCC) นำคณะผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาแนะนำตัว พร้อมหารือประเด็นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงรายงานผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2560 โดยผลสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยมีแนวโน้มเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าครึ่งหลังของปี 2559 และคาดว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2560
ทั้งนี้ บริษัทญี่ปุ่น 44% มีแผนจะขยายการลงทุนในประเทศ และบริษัทญี่ปุ่นอีก 50% จะไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกจากประเทศไทย
รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่าจะพยายามอย่างเต็มในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น 4.0 (Local Economy 4.0) โดยมุ่งเน้นการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเพิ่มรายได้ของประชาชนในท้องถิ่น และกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคภายใต้หลักคิดของนายกรัฐมนตรีที่ว่า "เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน" และ "จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความเชื่อมโยงใน CLMVT โดยพร้อมเป็นฐานการส่งออกของภูมิภาคอาเซียนผ่านการเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง การคมนาคม และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกลุ่มประเทศ CLMVT ซึ่งจะเชื่อมโยงกับนโยบาย “connected industries" และยุทธศาสตร์ “Thailand Plus One" ของญี่ปุ่น
รมว.พาณิชย์ ได้แจ้งภาคเอกชนญี่ปุ่นว่า กระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุน ล่าสุดได้เปิดให้บริการระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.60 เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนนิติบุคคลให้ทันสมัยและรวดเร็วยิ่งขึ้น
และเนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะจัดงานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนสำหรับนักธุรกิจและภาคเอกชนญี่ปุ่นในเดือน ก.ย.60 เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และศึกษาดูงานโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น โดยประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ยินดีที่จะช่วยประชาสัมพันธ์แก่นักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นในและนอกประเทศต่อไป
อนึ่ง ในปี 59 ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 โดยมีมูลค่าการลงทุน 57,898 ล้านบาท และปัจจุบันมีเงินลงทุนสะสมโดยตรงในไทย (ปี 48-59) 1,351,546 ล้านบาท และคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน) โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (55-59) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 70,510.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 59 การค้า รวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 51,241 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการเติบโตลดลงจากปีที่แล้ว 0.11%
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ขณะเดียวกันในปี 59 มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 70,000 คน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จำนวน 1,439,629 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.19% ซึ่งเป็นอันดับ 4 รองจากจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 901,458 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13.14%